จำเลยที่ ๑ เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทก่อนที่โจทก์ร่วมจะได้สิทธิการเช่าที่ดินพิพาทจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่โดยจำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับอนุญาตจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่ ถือว่าการก ระทำของจำเลยที่ ๑ เป็นการบุกรุกรบกวนการครอบครองที่ราชพัสดุที่อยู่ในความดูแลของสำนักงานธนารักษ์พื้นที่เป็นความผิดสำเร็จแล้ว การที่จำเลยที่ ๑ ยังคงครอบครองที่ดินพิพาทอยู่ต่อมาเป็นผลของการบุกรุก แม้การครอบครองของจำเลยที่ ๑ ยังคงกระทำต่อเนื่องกันจนถึงวันที่โจทก์ร่วมได้สิทธิครอบครองโดยการเช่าที่ดินพิพาทจากสำนักงานธนารักษ์พื้นที่หลังจากการกระทำความผิดฐานบุกรุกสำเร็จแล้ว ก็ไม่ถือว่าโจทก์ร่วมเป็นผู้เสียหาย
               ความผิดฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๒ เป็นความผิดอันยอมความได้ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๖๖ พนักงานสอบสวนจะทำการสอบสวนได้ต่อเมื่อมีคำร้องทุกข์ตามระเบียบ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๑ วรรคสอง เมื่อโจทก์ร่วมมิใช่ผู้เสียหายไม่มีสิทธิร้องทุกข์และเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการ การสอบสวนจึงไม่ชอบ ส่งผลให้พนักงานอัยการโจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยที่ ๑ ในความผิดฐานบุกรุก ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๒๐

เพิ่มเติม
               ผู้เสียหายในความผิดฐานบุกรุกไม่จำต้องเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์นั้น ผู้ครอบครองดูแลรักษาทรัพย์ก็เป็นผู้เสียหาย แม้บ้านพักข้าราชการครูที่เกิดเหตุเป็นสถานที่ ราชการ แต่เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าบ้านดังกล่าวเป็นเคหสถานที่อยู่อาศัยของ ศ. ดังนั้น ศ. ย่อมเป็นผู้ครอบครองดูแล จึงเป็นผู้เสียหายมีอำนาจแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนได้ โดยชอบ (ฎีกาที่ ๗๓๑๓/๒๕๕๑)

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๒ ในประมวลกฎหมายนี้
               (๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖