ค่าขาดราคาเป็นค่าเสียหายที่โจทก์อาจเรียกร้องได้ในกรณีจำเลยผิดสัญญาและโจทก์มีหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยชอบแล้ว โจทก์ยังไม่ได้บอกเลิกสัญญาเช่าซื้อแก่จำเลย สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกัน แต่การที่โจทก์ยอมรับรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนจากจำเลยโดยไม่ปรากฏว่าโจทก์ได้โต้แย้งคัดค้านถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยายตั้งแต่วันที่โจทก์ได้รับรถคืนอันเป็นการเลิกสัญญาเช่าซื้อเพราะเหตุอื่นมิใช่เหตุที่คู่สัญญาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งใช้สิทธิบอกเลิกสัญญาโดยข้อตกลงในสัญญาหรือโดยผลแห่งกฎหมาย ทั้งตามสัญญาเช่าซื้อไม่มีข้อตกลงโดยชัดแจ้งให้โจทก์มีสิทธิเรียกค่าขาดราคากรณีจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อและนำรถยนต์ที่เช่าซื้อมาคืน โจทก์จึงไม่อาจเรียกเอาค่าขาดราคาจากจำเลยได้ คงมีสิทธิเรียกค่าเสียหายเป็นค่าใช้ทรัพย์หรือค่าขาดประโยชน์ระหว่างจำเลยผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อถึงวันที่จำเลยส่งมอบรถคืนแก่โจทก์ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๓๙๑ วรรคสาม

                ตามฎีกานี้ จำเลยฎีกาว่าหลังจากจำเลยผิดนัดไม่ชำระค่าเช่าซื้อ ต่อมาวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๕๗ จำเลยส่งมอบรถยนต์ที่เช่าซื้อคืนให้โจทก์ โดยโจทก์มิได้โต้แย้งถือว่าโจทก์และจำเลยสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย จำเลยต้องรับผิดเฉพาะค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์เท่านั้น

เพิ่มเติม
                ผลของการเลิกสัญญา มีหลักกลับคืนสู่ฐานะเดิม เป็นหลักการใหญ่ ซึ่งหลักกลับคืนสู่ฐานะเดิมได้แก่มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง ถึงวรรคสาม ส่วนมาตรา ๓๙๑ วรรคสี่ มีหลักผิดนัดผิดสัญญา รองรับอยู่(พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด)

                สมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย
                ฎีกาที่ ๔๙๐๐/๒๕๕๙ โจทก์มิได้ผิดสัญญาเช่า จึงไม่มีเหตุที่จำเลยจะใช้สิทธิเลิกสัญญาเช่า การที่จำเลยมีหนังสือบอกเลิกสัญญาไปยังโจทก์จึงเป็นการไม่ชอบ อย่างไรก็ตาม การที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ขอให้จำเลยคืนเงินประกันและชดใช้เงินค่าปรับปรุงตึกแถวโดยมิได้ขอให้จำเลยปฏิบัติตามสัญญาต่อไป ถือได้ว่า โจทก์ประสงค์จะเลิกสัญญาเช่าด้วย จึงเป็นกรณีคู่สัญญาสมัครใจเลิกกันโดยปริยาย คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง         
                ฎีกาที่ ๒๔๑๗/๒๕๕๗ ผู้ให้เช่าซื้อไม่ดำเนินการตามขั้นตอนการบอกกล่าวทวงถามและการบอกเลิกสัญญา แต่ได้ไปยึดรถยนต์ที่ให้เช่าซื้อคืนโดยไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ ได้โต้แย้งคัดค้าน ถือว่าคู่สัญญาสมัครใจเลิกสัญญากันโดยปริยาย
                ฎีกาที่ ๗๗๔๐/๒๕๕๕ เมื่อโจทก์ส่งมอบการครอบครองที่ดินพิพาทให้จำเลยทั้งสองแล้ว จึงเป็นการปฏิบัติการชำระหนี้ตามสัญญาครบถ้วน จำเลยทั้งสองย่อมมีหน้าที่ชำระราคาส่วนที่เหลือให้แก่โจทก์และเมื่อจำเลยทั้งสองไม่ชำระราคาส่วนที่เหลือ แทนที่โจทก์จะฟ้องบังคับให้จำเลยทั้งสองชำระเงินตามสัญญา แต่โจทก์กลับมาฟ้องขับไล่จำเลยทั้งสองเป็นคดีนี้ และจำเลยที่ ๒ ก็ฟ้องแย้งขอให้โจทก์คืนเงินค่าที่ดินที่รับไว้จำนวน ๗๓๐,๐๐๐ บาท กรณีจึงถือได้ว่าคู่สัญญาต่างสมัครใจเลิกสัญญาซื้อขายสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทต่อกัน คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิมตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๙๑ วรรคหนึ่ง

                ค่าขาดประโยชน์รายเดือน
                ค่าขาดประโยชน์จากการใช้ทรัพย์รายเดือนที่ผู้เช่าซื้อจะต้องรับผิด ตามปกติย่อมคิดเทียบได้กับดอกเบี้ยซึ่งผู้ให้เช่าซื้อคิดรวมไว้ล่วงหน้าตามจำนวนปีหรืองวดที่ผ่อนชำระจากราคารถที่เช่าซื้อที่แท้จริง เพราะเงินส่วนนี้คือส่วนที่ทำให้ผู้ให้เช่าซื้อขาดประโยชน์ไปในแต่ละเดือน(ฎีกาที่ ๑๖๙๙๔/๒๕๕๗)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                มาตรา ๓๙๑ เมื่อคู่สัญญาฝ่ายหนึ่งได้ใช้สิทธิเลิกสัญญาแล้ว คู่สัญญาแต่ละฝ่ายจำต้องให้อีกฝ่ายหนึ่งได้กลับคืนสู่ฐานะดังที่เป็นอยู่เดิม แต่ทั้งนี้จะให้เป็นที่เสื่อมเสียแก่สิทธิของบุคคลภายนอกหาได้ไม่
                ส่วนเงินอันจะต้องใช้คืนในกรณีดังกล่าวมาในวรรคต้นนั้น ท่านให้บวกดอกเบี้ยเข้าด้วย คิดตั้งแต่เวลาที่ได้รับไว้
                ส่วนที่เป็นการงานอันได้กระทำให้และเป็นการยอมให้ใช้ทรัพย์นั้น การที่จะชดใช้คืน ท่านให้ทำได้ด้วยใช้เงินตามควรค่าแห่งการนั้น ๆ หรือถ้าในสัญญามีกำหนดว่าให้ใช้เงินตอบแทน ก็ให้ใช้ตามนั้น
                การใช้สิทธิเลิกสัญญานั้นหากระทบกระทั่งถึงสิทธิเรียกร้องค่าเสียหายไม่


อ้างอิง
พลภวิษย์ พันธุ์คำเกิด. คู่มือสัมมนาและวิเคราะห์ข้อสอบกฎหมายลักษณะนิติกรรมและหนี้ เล่ม ๑. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.