จำเลยมีชื่อในโฉนดที่ดินพิพาท เป็นการถือครองที่ดินแทนทายาท คือโจทก์ทั้งสองในฐานะที่เป็นเจ้าของร่วมกันระหว่างโจทก์ทั้งสองกับจำเลย หาใช่เป็นการยึดถือครอบครองไว้ด้วยเจตนาเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียวไม่ แม้จำเลยจะครอบครองนานเพียงใดก็ไม่ได้กรรมสิทธิ์ และการที่โจทก์ทั้งสองขอแบ่งกรรมสิทธิ์รวมเป็นการขอแบ่งทรัพย์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๖๓ โดยไม่มีอายุความ มิใช่เป็นการฟ้องเรียกให้แบ่งมรดก จำเลยจึงไม่อาจยกเอาเรื่องอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ มาปรับแก่คดีได้
               
เพิ่มเติม
                คดีมรดก อาจารย์กีรติ กาญจนรินทร์ ให้ความหมายไว้ว่า “คดีมรดก หมายถึง คดีที่ทายาทหรือผู้สืบสิทธิของทายาทฟ้องเรียกร้องเอาส่วนแบ่งทรัพย์มรดกส่วนของตน โดยสิทธิตามกฎหมายหรือโดยพินัยกรรมจากผู้จัดการมรดก หรือทายาทอื่นหรือผู้สืบสิทธิของทายาทอื่น หรือผู้รับพินัยกรรมอื่นในทรัพย์มรดกรายเดียวกัน”
                ฎีกาที่ ๓๓๑๖/๒๕๔๒ คดีมรดก หมายความว่า คดีที่พิพาทกันระหว่างทายาทที่มีสิทธิในมรดกด้วยกัน ด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดก
                ฎีกาที่ ๖๓๒๔/๒๕๕๙ กำหนดอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ ใช้บังคับสำหรับกรณีที่ทายาทฟ้องเรียกร้องทรัพย์มรดกจากทายาทที่ครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งปันกัน คดีนี้โจทก์ฟ้องว่ามีการแบ่งปันมรดกกันแล้ว โจทก์ให้จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทซึ่งเป็นส่วนของโจทก์แทน และฟ้องเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลย จึงเป็นการเรียกที่ดินพิพาทคืนจากจำเลยในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ผู้ใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์ของตนคืนจากบุคคลผู้ไม่มีสิทธิยึดถือไว้ มิใช่กรณีทายาทผู้มีสิทธิรับมรดกด้วยกันพิพาทกันด้วยเรื่องสิทธิเรียกร้องส่วนแบ่งทรัพย์มรดกอันจะอยู่ภายใต้บังคับอายุความมรดกตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๕๔ ดังนั้น แม้โจทก์จะฟ้องจำเลยเกินสิบปี นับแต่บิดาโจทก์และจำเลยซึ่งเป็นเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย คดีโจทก์ก็ไม่ขาดอายุความ

ข้อเท็จจริง
                ปู่มีบุตรทั้งหมด ๔ คน ได้แก่ ล., บิดาโจทก์ทั้งสองและจำเลย, ซ. และ ว.
                ปี ๒๔๗๓ ปู่ซื้อที่ดิน โดยใส่ชื่อตนเอง บิดาโจทก์ทั้งสองและจำเลย และ ล. ในสัญญาซื้อขายที่ดิน
                ปี ๒๔๗๗ บิดาโจทก์ทั้งสองและจำเลย ถึงแก่ความตาย
                ปี ๒๔๘๑ ปู่ถึงแก่ความตาย
                ตามประเพณีจีน บุคคลซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุดจะเป็นผู้จัดการทรัพย์สิน ล.ซึ่งเป็นผู้ใหญ่ที่สุดจึงเป็นผู้จัดการทรัพย์สินต่อจากปู่
                ปี ๒๔๙๑ ล. ดำเนินการขอรังวัดออกโฉนดที่ดิน โดยใส่ชื่อ ล., ซ., ว. และจำเลย เป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมในที่ดิน
                ปี ๒๕๑๑, ๒๕๑๕ ล., ซ. และ ว. ถึงแก่ความตาย
                ปี ๒๕๔๖ จำเลยและทายาทแต่ละสายของบุตรปู่ ยินยอมแบ่งที่ดินเป็น ๔ ส่วน เพื่อแบ่งปันกันระหว่างเจ้าของรวมตามคำพิพากษาตามยอม
                ก่อนฟ้องคดีนี้ไม่ถึงหนึ่งปี ( ฟ้องวันที่ ๒๘ พฤษภาคม ๒๕๕๒) จำเลยเคยเชิญโจทก์ทั้งสองไปที่บ้าน จำเลยประสงค์จะแบ่งที่ดินพิพาทให้แก่โจทก์ทั้งสองบางส่วนคนละ ๑๖ ไร่ แต่โจทก์ทั้งสองไม่รับข้อเสนอ เพราะไม่เป็นการแบ่งส่วนให้เท่าเทียมกัน
                จำเลยตอบทนายโจทก์ทั้งสองถามค้านว่า จำเลยไม่ทราบสาเหตุที่ใส่ชื่อจำเลยในโฉนดที่ดิน เนื่องจากบุตรคนอื่นของปู่ต่างเป็นผู้ชาย ส่วนบิดาจำเลยถึงแก่ความตาย จึงเหลือจำเลยเป็นผู้ชายคนเดียว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๓๖๓  เจ้าของรวมคนหนึ่ง ๆ มีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ เว้นแต่จะมีนิติกรรมขัดอยู่ หรือถ้าวัตถุที่ประสงค์ที่เป็นเจ้าของรวมกันนั้นมีลักษณะเป็นการถาวร ก็เรียกให้แบ่งไม่ได้
              
สิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินนั้น ท่านว่าจะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้
              
ท่านว่าเจ้าของรวมจะเรียกให้แบ่งทรัพย์สินในเวลาที่ไม่เป็นโอกาสอันควรไม่ได้
                มาตรา ๑๗๕๔ ห้ามมิให้ฟ้องคดีมรดกเมื่อพ้นกำหนดหนึ่งปี นับแต่เมื่อเจ้ามรดกตาย หรือนับแต่เมื่อทายาทโดยธรรมได้รู้ หรือควรได้รู้ถึงความตายของเจ้ามรดก