ตามบันทึกถ้อยคำไม่ขอรับมรดกที่ดินพิพาททั้ง ๒ แปลง โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่ให้ถ้อยคำต่อเจ้าพนักงานที่ดินว่า โจทก์ทั้งสองและจำเลยทั้งสี่บุตรของเจ้ามรดกมีสิทธิรับมรดกที่ดินดังกล่าวด้วยในฐานะทายาทโดยธรรม ได้ทราบการขอรับโอนมรดกที่ดินพิพาทตามประกาศของสำนักงานที่ดินแล้ว ไม่มีความประสงค์ขอรับโอนมรดกดังกล่าวยินยอมให้ ส. เป็นผู้รับโอนมรดกดังกล่าว ขอให้เจ้าพนักงานที่ดินสั่งการโอนมรดกให้ผู้ขอ บันทึกถ้อยคำดังกล่าว มิใช่เป็นการสละมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๑๒ และ ๑๖๑๓ เพราะการสละมรดกต้องเป็นการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด และยังมีทรัพย์มรดกส่วนอื่นๆ ที่มิได้มีการสละด้วย แต่เป็นกรณีที่ทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๗๕๐ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๘๕๐ ซึ่งมีผลบังคับได้ตามมาตรา ๘๕๒ โจทก์ทั้งสองเรียกร้องทรัพย์มรดกส่วนนี้ไม่ได้ จึงไม่มีสิทธิฟ้องขอแบ่งที่ดินพิพาททั้งสองแปลง

เพิ่มเติม
                การสละมรดก หมายถึงการสละส่วนของตนโดยไม่เจาะจงว่าจะให้แก่ทายาทคนใด(ฎีกาที่ ๑๗๒๓/๒๕๑๕)
                การสละมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ ถ้าทำในกรุงเทพมหานคร ต้องทำต่อหน้าผู้อำนวยการเขต ส่วนในต่างจังหวัดต้องกระทำต่อหน้านายอำเภอ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงมหาดไทยซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๑๖๗๒ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เมื่อวันที่ ๒๘ กรกฎาคม ๒๔๘๑ ข้อ ๑๔, ๑๕ แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ.๒๔๙๕ มาตรา ๔๐ (ฎีกาที่ ๑๒๕๐/๒๕๓๘) ซึ่งมาตรา ๔๐ ดังกล่าวกำหนดว่า พนักงานเจ้าหน้าที่ หมายถึง นายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต อนึ่ง ผู้ทำการแทนบุคคลดังกล่าวถือว่าเป็นพนักงานเจ้าหน้าที่เช่นกัน
                การสละมรดกโดยทำเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ กระทำโดยแสดงเจตนาฝ่ายเดียว โดยทายาทอื่นไม่จำต้องรับรู้ด้วยก็ได้ ส่วนการทำสัญญาประนีประนอมยอมความนั้น จะต้องมีคู่สัญญา แต่ไม่จำต้องแสดงเจตนาต่อทายาททุกคน
                ที่ดินและเรือนเป็นทรัพย์มรดก แต่เอกสารหมาย ล.๑ กล่าวถึงเฉพาะที่ดิน ไม่ใช่เรือน จึงมิใช่การสละมรดกตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๑๒ จะทำได้เพียงบางส่วนไม่ได้ตามมาตรา ๑๖๑๓ อย่างไรก็ดี เอกสารหมาย ล.๑ ก็เป็นหลักฐานแห่งสัญญาแบ่งปันมรดก ซึ่งโจทก์ลงลายมือชื่อว่าโจทก์เป็นทายาทมีสิทธิรับมรดกที่ดินแต่โจทก์ไม่ประสงค์จะขอรับโอนมรดกต่อไป โจทก์ตกลงยินยอมให้จำเลยผู้เป็นภรรยาของเจ้ามรดกเป็นผู้รับโอนแต่ผู้เดียว จึงมีผลเฉพาะที่ดินเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับเรือน(ฎีกาที่ ๗๒/๒๕๑๒)

อ้างอิง
กีรติ กาญจนรินทร์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ มรดก. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๐.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๖๑๒ การสละมรดกนั้น ต้องแสดงเจตนาชัดแจ้งเป็นหนังสือมอบไว้แก่พนักงานเจ้าหน้าที่ หรือทำเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ
                มาตรา ๑๖๑๓ การสละมรดกนั้น จะทำแต่เพียงบางส่วน หรือทำโดยมีเงื่อนไข หรือเงื่อนเวลาไม่ได้
                การสละมรดกนั้น จะถอนเสียมิได้