เมื่อมีการบังคับคดีขายทอดตลาดอสังหาริมทรัพย์ซึ่งติดจำนองไม่มีบทบัญญัติบังคับผู้รับจำนองให้จำต้องแสดงหลักฐานการเป็นหนี้หรือยอดหนี้ของผู้จำนองต่อเจ้าพนักงานบังคับคดีหรือต่อศาล แม้ศาลชั้นต้นเคยยกคำร้องของผู้ร้องที่ขอกันส่วนเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดโดยอ้างเหตุว่าผู้ร้องไม่ได้นำสืบว่ายอดหนี้ตามคำพิพากษาในคดีแพ่งของศาลจังหวัดตลิ่งชันเป็นส่วนของหนี้จำนองจำนวนเท่าใด แล้วต่อมาผู้ร้องยื่นคำร้องขอกันส่วนใหม่อีกแต่ศาลวินิจฉัยว่าเป็นการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำก็ตาม สิทธิของผู้รับจำนองก็หาได้ระงับสิ้นไปไม่  โดยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษานั้นก็ไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิสิทธิของผู้รับจำนองซึ่งอาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินพิพาทได้ตามบทบัญญัติแห่ง ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๗ (เดิม) อีกทั้งสิทธิรับจำนองเป็นทรัพยสิทธิที่ก่อตั้งขึ้นโดยกฎหมายจะระงับสิ้นไปก็ต้องเป็นไปตามกฎหมายซึ่งบัญญัติไว้ใน ป.พ.พ.มาตรา ๗๔๔ เท่านั้น ดังนี้ ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ตามคำพิพากษาของจำเลยในคดีแพ่งของศาลจังหวัดตลิ่งชัน และเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองของจำเลยในทรัพย์จำนองที่ถูกยึดขายทอดตลาดในคดีนี้ การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องในวันที่ศาลชั้นต้นนัดพร้อมเพื่อขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๗ (เดิม) จึงเป็นการบังคับคดีตามคำพิพากษาของศาล ผู้ร้องได้รับยกเว้นไม่อยู่ในบังคับบทบัญญัติเรื่องการดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำตามมาตรา ๑๔๔ (๕) ปัญหาดังกล่าวเป็นข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชน และศาลฎีกาเคยไม่รับคดีไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๒๓ วรรคหนึ่ง และจำหน่ายคดีออกจากสารบบความของศาลฎีกาก็ตาม แต่เมื่อคดีขึ้นสู่ศาลฎีกาอีกครั้งหนึ่ง ศาลฎีกาก็มีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัยเองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) มาตรา ๒๔๖ และมาตรา ๒๔๗ (เดิม) ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับอยู่ในขณะที่โจทก์ยื่นฟ้อง และกรณีไม่เป็นฟ้องซ้ำหรือดำเนินกระบวนพิจารณาซ้ำ ดังนั้น ผู้ร้องก็ยังมีสิทธิยื่นคำร้องขอรับชำระหนี้บุริมสิทธิจำนองใหม่อีก เมื่อปรากฏว่าในการบังคับคดีนี้เจ้าพนักงานบังคับคดีเอาทรัพย์จำนองออกขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองและเจ้าพนักงานบังคับคดียังไม่ได้จ่ายเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดทรัพย์จำนองจึงต้องชำระหนี้จำนองแก่ผู้ร้องซึ่งเป็นผู้รับจำนองก่อนตาม ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๒

เพิ่มเติม
                ลำดับการชำระเงินจากการขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนอง ป.พ.พ. มาตรา ๗๓๒ บัญญัติว่า “ทรัพย์สินซึ่งจำนองขายทอดตลาดได้เงินเป็นจำนวนสุทธิเท่าใด ท่านให้จัดใช้แก่ผู้รับจำนองเรียงตามลำดับ และถ้ายังมีเงินเหลืออยู่อีกก็ให้ส่งมอบแก่ผู้จำนอง” ซึ่งคำว่า “เรียงตามลำดับ” หมายถึง เรียงตามลำดับวันและเวลาที่จดทะเบียนจำนองตามมาตรา ๗๓๐
                การขอกันส่วนตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๒๘๗ เดิม ปัจจุบันเป็นมาตรา ๓๒๒ แต่หลักการทำนองเดียวกัน ซึ่งมาตรา ๓๒๒ บัญญัติว่า “ภายใต้บังคับมาตรา ๓๒๓ และมาตรา ๓๒๔ บทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยการบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของลูกหนี้ตามคำพิพากษาย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงทรัพยสิทธิ บุริมสิทธิ สิทธิยึดหน่วง หรือสิทธิอื่นซึ่งบุคคลภายนอกมีอยู่เหนือทรัพย์สินหรืออาจร้องขอให้บังคับเหนือทรัพย์สินนั้นตามกฎหมาย”
                การขอรับชำระหนี้จำนอง หนี้จำนองจะต้องถึงกำหนดแล้วเท่านั้น เมื่อจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ก็ไม่มีเหตุตามกฎหมายที่จะให้เจ้าหนี้จำนองบังคับจำนองได้ก่อนหนี้จำนองถึงกำหนดชำระ ทางออกคือ เจ้าพนักงานบังคับคดีขายทอดตลาดทรัพย์สินจำนองโดยมีจำนองติดไปด้วย แต่ตามฎีกาที่ ๓๗๘/๒๕๕๙ แม้หนี้จำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้รับจำนองก็อาจยื่นคำร้องขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องได้
                ฎีกาที่ ๓๗๘/๒๕๕๙  ผู้ร้องเป็นเจ้าหนี้ผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึด หนี้ตามสัญญาจำนองยังไม่ถึงกำหนดชำระ ผู้ร้องจึงไม่อาจใช้สิทธิฟ้องร้องบังคับคดีเอาแก่ทรัพย์จำนองได้ ขอให้ศาลมีคำสั่งให้กันเงินจากการขายทอดตลาดโดยปลอดจำนองไว้ให้แก่ผู้ร้องด้วย จะเห็นได้ว่าเนื้อหาตามคำร้องขอดังกล่าวเป็นกรณีที่ผู้ร้องในฐานะเจ้าหนี้ผู้รับจำนองใช้สิทธิตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗  หาใช่เป็นการร้องขอรับชำระหนี้โดยอาศัยอำนาจแห่งการจำนองที่อาจบังคับได้ก่อนเจ้าหนี้รายอื่นตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๙ ไม่ แม้ขณะที่ผู้ร้องยื่นคำร้อง หนี้จำนองที่จำเลยจะต้องรับผิดชำระแก่ผู้ร้องยังไม่ถึงกำหนดชำระอันจะขอรับชำระหนี้จำนองตามมาตรา ๒๘๙ วรรคหนึ่ง ไม่ได้ก็ตาม แต่การบังคับคดีแก่ทรัพย์สินของจำเลยย่อมไม่กระทบกระทั่งถึงบุริมสิทธิอื่น ๆ ของผู้ร้องซึ่งเป็นบุคคลภายนอกผู้รับจำนองตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗  เมื่อผู้ร้องเป็นผู้รับจำนองห้องชุดพิพาทที่โจทก์นำยึดได้ใช้สิทธิตามมาตรา ๒๘๗ และขอให้ขายทอดตลาดโดยปลอดจำนอง ผู้ร้องจึงมีสิทธิขอกันเงินจากการขายทอดตลาดตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗ ได้

อ้างอิง
ปัญญา ถนอมรอด. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ. กรุงเทพมหานคร: จัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, ๒๕๖๐.
สมชัย ฑีฆาอุตมากร. ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การบังคับคดีตามคำพิพากษาหรือคำสั่ง ฉบับสมบูรณ์. กรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๖๑.