โจทก์ได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้จำเลยทั้งสองแล้ว จำเลยทั้งสองย่อมเป็นผู้มีกรรมสิทธิ์ในที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท และมีสิทธิจำหน่ายจ่ายโอนที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้ จำเลยทั้งสองได้ทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทให้แก่บุตรของจำเลยทั้งสองคือ ผู้ร้องทั้งสามในคดีนี้ และศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว ย่อมถือได้ว่าผู้ร้องทั้งสามอยู่ในฐานะเป็นผู้มีสิทธิจดทะเบียนสิทธิที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทได้ก่อนนับแต่วันที่ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความแล้ว คงติดอยู่เพียงเงื่อนไขที่จะจดทะเบียนสิทธิได้เมื่อมีการชำระหนี้จำนองเสร็จสิ้นแล้วเท่านั้น ผู้ร้องทั้งสามจึงได้รับความคุ้มครองตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๘๗ (เดิม) การบังคับคดีนี้จึงต้องไม่กระทบสิทธิของผู้ร้องทั้งสาม ประกอบกับได้ความว่าก่อนโจทก์นำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท โจทก์ก็รับทราบสิทธิของผู้ร้องทั้งสามแล้วตามที่ปรากฏในคำบรรยายฟ้องของโจทก์ การที่ โจทก์นำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาท จึงถือได้ว่าโจทก์เป็นผู้ไม่สุจริต แม้สิทธิของผู้ร้องทั้งสามยังไม่จดทะเบียนก็สามารถยกขึ้นยันโจทก์ได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๐๐ ดังนั้น โจทก์จึงไม่สามารถนำเจ้าพนักงานบังคับคดียึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างอันเป็นการบังคับคดีที่กระทบกระเทือนสิทธิของผู้ร้องทั้งสามได้

               ตามฎีกานี้ โจทก์เป็นมารดาของจำเลยที่ ๑ ตกลงขายที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองซึ่งเป็นสามีภริยากัน ในราคา ๑,๕๐๐,๐๐๐ บาท  ในวันโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพิพาทพร้อมสิ่งปลูกสร้าง จำเลยทั้งสองชำระเงิน ๙๓๐,๐๐๐ บาท คงค้างชำระหนี้อีก ๕๗๐,๐๐๐ บาท และจำเลยทั้งสองจดทะเบียนจำนองที่พร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่ธนาคารเพื่อประกันหนี้เงินกู้จำนวน ๙๓๐,๐๐๐ บาท ต่อมา จำเลยที่ ๑ ฟ้องจำเลยที่ ๒ เพื่อแบ่งที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว ต่อมาจำเลยทั้งสองทำสัญญาประนีประนอมยอมความตกลงโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างให้แก่ผู้ร้องทั้งสาม ซึ่งเป็นบุตร เมื่อจำเลยที่ ๑ ผ่อนชำระหนี้จำนองหมดแล้ว และเมื่อโอนแล้วห้ามบุตรทั้งสามโอนหรือขายให้แก่บุคคลภายนอกจนกว่า จำเลยที่ ๑ จะเสียชีวิต และในระหว่างชำระหนี้จำนองให้จำเลยที่ ๑ มีสิทธิอยู่อาศัยเก็บกินในบ้านหลังดังกล่าวไปตลอดชีวิต ศาลชั้นต้นพิพากษาตามสัญญาประนีประนอมยอมความ ในวันเดียวกันนั้น จำเลยทั้งสองแถลงต่อศาลชั้นต้นว่ายังคงค้างราคาที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างแก่โจทก์จำนวน ๕๗๐,๐๐๐ บาท แต่โจทก์ลดยอดหนี้ลงเหลือ ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยจำเลยทั้งสองจะผ่อนชำระให้แก่โจทก์คนละ ๒,๕๐๐ บาท ต่อเดือน ชำระงวดแรกในวันสิ้นเดือนมีนาคม ๒๕๕๔ และทุก ๆ สิ้นเดือนจนกว่าจะครบ หลังจากนั้นจำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ โจทก์จึงฟ้องคดีนี้ เมื่อศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีแล้ว จำเลยทั้งสองไม่ชำระหนี้ตามคำพิพากษา โจทก์จึงนำยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวออกขายทอดตลาด
               คดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามฎีกาของผู้ร้องทั้งสามว่า มีเหตุให้เพิกถอนการยึดที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างพิพาทหรือไม่
               “ผู้ร้องทั้งสามเป็นบุคคลภายนอกจะได้รับโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินพร้อมสิ่งปลูกสร้างตามสัญญาประนีประนอมยอมความของจำเลยทั้งสอง  ผู้ร้องทั้งสามเป็นผู้อยู่ในฐานะจดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อน”

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๓๐๐ ถ้าได้จดทะเบียนการโอนอสังหาริมทรัพย์หรือทรัพยสิทธิอันเกี่ยวกับอสังหาริมทรัพย์ เป็นทางเสียเปรียบแก่บุคคลผู้อยู่ในฐานะอันจะให้จดทะเบียนสิทธิของตนได้อยู่ก่อนไซร้ ท่านว่าบุคคลนั้นอาจ เรียกให้เพิกถอนการจดทะเบียนนั้นได้ แต่การโอนอันมีค่าตอบแทน ซึ่งผู้รับโอนกระทำการโดยสุจริตนั้น ไม่ว่า กรณีจะเป็นประการใด ท่านว่าจะเรียกให้เพิกถอนทะเบียนไม่ได้