จำเลยซึ่งเป็นคนรักเก่าของ ส. มาในที่เกิดเหตุเนื่องจากผู้ตายทะเลาะทำร้าย ส. และสั่งให้ ส. โทรศัพท์เรียกจำเลยมาในที่เกิดเหตุ ขณะเกิดเหตุจำเลยเข้าไประงับเหตุระหว่างผู้ตายกับ ส. โดยจำเลยถามผู้ตายว่าทำไม ทำกับผู้หญิงอย่างนี้เมื่อจำเลยพูดจบ ผู้ตายเป็นฝ่ายชกที่ใบหน้าจำเลย ๑ ครั้ง จากนั้นทั้งสองชุลมุนชกต่อยกัน ผู้ตายเป็นฝ่ายพกอาวุธมีดมา แม้เหตุการณ์ในช่วงนี้ อาจถือได้ว่ามีภยันตรายที่จำเลยจำต้องป้องกัน แต่ปรากฏว่าต่อมาจำเลยแย่งอาวุธมีดดังกล่าวได้แล้วแทงผู้ตาย โดยเหตุการณ์ในช่วงต่อมานี้จำเลยกับผู้ตายชุลมุนต่อสู้กัน ประมาณ ๑๐ นาที ผู้ตายพูดว่าพอแล้ว ไม่ไหวแล้วแสดงว่าผู้ตายไม่อยู่ในวิสัยที่จะต่อสู้ทำร้ายจำเลยได้อีกต่อไป ภยันตรายที่จำเลยจำต้องป้องกันได้ผ่านพ้นไปแล้ว แต่จำเลยกับพวกยังตามทำร้ายซ้ำอีกแล้วจำเลยได้ถีบผู้ตายตกลงไปในคลอง จากนั้นจำเลยกับพวกกลับไปที่รถจักรยานยนต์แล้วขับกลับมายังจุดที่ผู้ตายตกลงไปในคลอง และจำเลยตะโกนขึ้นว่าลงไปดูซิ มันตายหรือยังแต่เพื่อนของจำเลยบอกว่าไปเลยไปเลยจำเลยกับพวกจึงขับรถจักรยานยนต์ออกไปจากที่เกิดเหตุ การกระทำของจำเลยจึงไม่เป็นการป้องกัน แต่พฤติการณ์ที่จำเลยซึ่งเป็นคนรักเก่าของ ส. และถูกเรียกให้ไปในที่เกิดเหตุ กับพยายามระงับเหตุทะเลาะระหว่างผู้ตายซึ่งเป็นคนรักใหม่กับ ส. แต่ผู้ตายเป็นฝ่ายชกและพยายามจะใช้อาวุธมีดแทงทำร้ายจำเลยก่อน จึงถือได้ว่าจำเลยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม การที่จำเลยแทงผู้ตายจนถึงแก่ความตายจึงเป็นความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ

               ตามฎีกานี้ โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา ๘๓, ๙๑, ๒๘๘(ฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา), ๓๗๑ จำเลยให้การปฏิเสธ ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๙๐(ทำร้ายผู้อื่นจนถึงแก่ความตาย) ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘, ๘๓ ประกอบมาตรา ๗๒ (ฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ) จำเลยฎีกา ซึ่งคดีมีปัญหาต้องวินิจฉัยว่า การกระทำของจำเลยเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือไม่

เพิ่มเติม
               การกระทำโดยบันดาลโทสะตาม ป.อ.มาตรา ๗๒ เป็นการกระทำที่ผู้กระทำความผิดถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ส่วนการป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายตามมาตรา ๖๘ หรือการป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุตามมาตรา ๖๙ นั้น เป็นกรณีที่ผู้กระทำจำต้องกระทำเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และมีภยันตรายที่ใกล้จะถึง การกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งจึงไม่อาจเป็นทั้งการกระทำโดยบันดาลโทสะและป้องกันสิทธิโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการป้องกันสิทธิเกินสมควรแก่เหตุในขณะเดียวกันได้ เนื่องจากภยันตราย ซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมายที่ผู้กระทำจะกระทำเพื่อป้องกันสิทธิได้จะต้องเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึงและภยันตรายนั้น ยังมิได้สิ้นสุดลง หากภยันตรายนั้นผ่านพ้นไปแล้วผู้กระทำก็ไม่อาจอ้างว่าเป็นการกระทำเพื่อป้องกันสิทธิได้ อย่างไรก็ดีภยันตรายดังกล่าวแม้จะ ผ่านพ้นไปแล้ว แต่ก็อาจเป็นการข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมได้อย่างหนึ่ง หากผู้ถูกข่มเหงได้กระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น คือ ในระยะเวลาต่อเนื่องที่ตนยังมีโทสะอยู่ ย่อมถือว่าเป็นการกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ(ฎีกาที่ ๔๘๙๕/๒๕๖๑)

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๖๘ ผู้ใดต้องกระทำการใดเพื่อป้องกันสิทธิของตนหรือของผู้อื่นให้พ้นภยันตรายซึ่งเกิดจากการประทุษร้ายอันละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นภยันตรายที่ใกล้จะถึง ถ้าได้กระทำพอสมควรแก่เหตุ การกระทำนั้นเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมาย ผู้นั้นไม่มีความผิด
               มาตรา ๗๒ ผู้ใดบันดาลโทสะโดยถูกข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรม จึงกระทำความผิดต่อผู้ข่มเหงในขณะนั้น ศาลจะลงโทษผู้นั้นน้อยกว่าที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้นเพียงใดก็ได้