จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต่างทราบข้อเท็จจริงอันเป็นสาเหตุแห่งการกระทำผิดมาตั้งแต่ต้นจากการที่จำเลยที่ ๒ โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ ๓ จากนั้นจำเลยทั้งสามกับพวกใช้รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะขับแล่นเข้าไปในซอยที่เกิดเหตุโดยทุกคนต่างพามีดติดตัวมาด้วย แสดงว่าจำเลยทั้งสามเจตนาที่จะก่อเหตุร้ายขึ้น ซึ่งจำเลยที่ ๑ ย่อมตระหนักได้เป็นอย่างดี และเมื่อไปถึงที่เกิดเหตุจำเลยทั้งสามก็ร่วมกันใช้มีดฟัน และแทงประทุษร้ายโจทก์ร่วมที่ ๑ ถึงที่ ๓ กับผู้ตายทันที ทั้งเป็นการ อยู่ในภาวะซึ่งช่วยเหลือกันและกันได้ แสดงว่าจำเลยที่ ๑ มีเจตนาร่วมกระทำความผิดกับจำเลยที่ ๒ และที่ ๓ อันเป็นตัวการร่วมกันกระทำความผิด หาใช่เป็นการกระทำอันเป็นเรื่องเฉพาะตัวของแต่ละคนไม่
               จำเลยที่ ๒ และ ธ. วิ่งหลบหนีเข้าไปในซอยและปืนข้ามกำแพงเข้าไปในหอพักแล้ว จากนั้นจำเลยที่ ๒ โทรศัพท์แจ้งจำเลยที่ ๓ แล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ รวมทั้งจำเลยที่ ๒ พากันไปยังซอยที่เกิดเหตุอีก หากจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ไม่ประสงค์จะไปทะเลาะวิวาทกับฝ่ายโจทก์ร่วมที่ ๑ ถึงที่ ๓ และผู้ตายกับพวก ก็ไม่จำต้องเข้าไปในซอยนั้นอีก แต่จำเลยที่ ๑ และ ที่ ๓ ก็เข้าไปยังซอยที่เกิดเหตุพร้อมกับจำเลยที่ ๒ โดยพามีดติดตัวไปด้วย ถือว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ สมัครใจทะเลาะวิวาทกับฝ่ายโจทก์ร่วมที่ ๑ ถึงที่ ๓ และผู้ตายกับพวก แล้วจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ย่อมไม่อาจอ้างว่าการกระทำของตนเป็นการป้องกันโดยชอบด้วยกฎหมายหรือเป็นการกระทำโดยบันดาลโทสะได้
               ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษายืนตามศาลชั้นต้น และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และที่ ๓ คนละ ๑๐ ปี เป็นกรณีที่ศาลอุทธรณ์ ภาค ๑ พิพากษายืนตามศาลล่าง และให้ลงโทษจำคุกจำเลยที่ ๑ และ ที่ ๓ เกินห้าปี โจทก์จะฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงไม่ได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๘ วรรคสอง ข้อห้ามฎีกานี้ย่อมใช้บังคับแก่โจทก์ร่วมด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๑๔) ซึ่งนิยามศัพท์คำว่า โจทก์” ไว้ว่า หมายความถึงพนักงานอัยการ หรือผู้เสียหายซึ่งฟ้องคดีอาญาต่อศาล หรือทั้งคู่ในเมื่อพนักงานอัยการและผู้เสียหายเป็นโจทก์ร่วมกัน

เพิ่มเติม
               หลัก ร่วมกระทำความผิดด้วยกัน มีดังนี้
               ๑.การร่วมกระทำเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งของการกระทำทั้งหมด
               ๒.การร่วมกระทำความผิดโดยแบ่งหน้าที่กันทำ
               ๓.การแบ่งหน้าที่กันทำผู้กระทำไม่จำเป็นอยู่ที่เดียวกันก็ได้แต่ต้องสามารถร่วมด้วยช่วยกันได้ทันทีทันใด
               ๔.การอยู่ร่วมใกล้เคียงกับที่เกิดเหตุในลักษณะพร้อมที่จะช่วยเหลือได้ในทันที
               ๕.การอยู่ร่วมในที่เกิดเหตุและก่อให้ผู้อื่นกระทำความผิดซึ่งต้องได้ความว่าหากความผิดที่ก่อให้ผู้อื่นทำนั้นไม่สำเร็จตนเองก็จะเข้าไปช่วยให้สำเร็จ มิฉะนั้นจะถึงว่าผู้ใช้ตามมาตรา ๘๔

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๘๓ ในกรณีความผิดใดเกิดขึ้นโดยการกระทำของบุคคลตั้งแต่สองคนขึ้นไป ผู้ที่ได้ร่วมกระทำความผิดด้วยกันนั้นเป็นตัวการ ต้องระวางโทษตามที่กฎหมายกำหนดไว้สำหรับความผิดนั้น

อ้างอิง
ไพบูลย์ วนพงษ์ทิพากร. หลักกฎหมายอาญา เล่ม 2. กรุงเทพมหานคร:สำนักพิมพ์บริษัท กรุงสยาม พัลลิชชิ่ง จำกัด เนติบัณฑิตยสภา, 2559.