จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ออนไลน์เป็นผู้นำเสนอข่าวสารทางระบบคอมพิวเตอร์ในนามของตนเองย่อมเป็นผู้ให้บริการตามบทนิยามตามพระราชบัญญัติจดแจ้งการพิมพ์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ และการที่เว็บไซต์ออนไลน์เสนอข่าวใด ๆ ย่อมถือว่าจำเลยที่ ๑ ในฐานะเจ้าของและเป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำเสนอข่าวแล้ว จำเลยที่ ๑ จะอ้างว่าได้มอบให้บุคคลอื่นควบคุมดูแลบริหารจัดการเว็บไซต์โดยจำเลยที่ ๑ มิได้เกี่ยวข้องกับข่าวเลยหาได้ไม่เพราะพระราชบัญญัติดังกล่าวมีเจตนารมณ์มุ่งประสงค์จะควบคุมการทำหน้าที่ของผู้ให้บริการโดยเฉพาะ
               เว็บไซต์ของจำเลยที่ ๑  เสนอข่าวระบุว่าโจทก์เป็นแกนนำในการที่เกษตรกรชาวสวนยางพาราและชาวสวนปาล์มชุมนุมปิดถนนให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาราคายางพารา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมประท้วงมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน จนรถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรไปมาได้ เป็นเหตุให้เส้นทางทั้งขาขึ้นและขาล่องมีรถติดยาวไม่ต่ำกว่า ๒ กิโลเมตร ทั้งที่โจทก์มิได้เป็นแกนนำหรือเข้าร่วมการชุมนุมตามข่าวที่ปรากฏ ถือได้ว่าข่าวหรือข้อมูลที่เกี่ยวกับตัวโจทก์เป็นข้อมูลอันเป็นเท็จเมื่อข่าวดังกล่าวระบุว่าการชุมนุมมีการนำรถบรรทุกสิบล้อมาปิดถนน อันเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย เป็นเหตุได้รถทุกประเภทไม่สามารถสัญจรผ่านไปมาได้ ก่อให้เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชนย่อมทำให้โจทก์ซึ่งตามข่าวระบุว่าเป็นแกนนำการชุมนุมได้รับความเสียหายแก่ชื่อเสียงได้ การกระทำของจำเลยที่ ๑ ที่เป็นผู้ให้บริการยินยอมให้มีการนำข้อมูลอันเป็นเท็จเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่โจทก์หรือประชาชนจึงเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔(๑)
               หนังสือพิมพ์รายวันของจำเลยที่ ๑ เผยแพร่และวางจำหน่ายทั่วราชอาณาจักร ส่วนเว็บไซต์ออนไลน์ซึ่งจำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของและผู้ให้บริการตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ เผยแพร่โดยระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์ ผู้สนใจสามารถติดตามข่าวได้ทั่วราชอาณาจักรเช่นเดียวกัน ถือได้ว่าการกระทำตามฟ้องเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการกรทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐  มาตรา ๑๕ ประกอบมาตรา ๑๔(๑) เกิดขึ้นทั่วราชอาณาจักร โจทก์ใช้สิทธิฟ้องคดีนี้ต่อศาลชั้นต้นได้ ไม่ถือว่าเป็นการใช้สิทธิโดยไม่สุจริต

ข้อเท็จจริง
               โจทก์ดำรงตำแหน่งเป็นนายกองค์การบริหารส่วนตำบล
               จำเลยที่ ๑ เป็นนิติบุคคลประเภทบริษัทจำกัด(มหาชน) มีวัตถุประสงค์ประกอบกิจการเกี่ยวกับสิ่งพิมพ์ออกหนังสือพิมพ์รายวัน และประกอบกิจการสื่ออิเล็กทรอนิกส์
               จำเลยที่ ๑ เป็นเจ้าของหนังสือพิมพ์รายวัน และสื่ออิเล็กทรอนิกส์เว็บไซต์ออนไลน์
               จำเลยที่ ๑ อ้างว่า ข่าวระบุแต่เพียงว่าโจทก์เป็นแกนนำ ซึ่งมีความหมายว่า โจทก์เป็นแกนนำกลุ่มเกษตรกร ไม่ใช่แกนนำกลุ่มผู้ชุมนุมที่ประท้วงปิดถนนแต่อย่างใด ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า ตามข่าวมิได้แยกการกระทำของแกนนำดังที่จำเลยที่ ๑ กล่าวอ้าง จึงย่อมฟังได้ว่าโจทก์เป็นแกนนำทั้งการชุมนุมประท้วงและการปิดถนนด้วย
              
เพิ่มเติม
               การกระทำความผิดตามมาตรา ๑๔(๑) แห่งพระราชบัญญัติคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐ มุ่งคุ้มครองประโยชน์สาธารณะเป็นสำคัญ ดังที่มีถ้อยคำในตอนท้ายว่า “อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา” ซึ่งอาจมีได้ทั้งกรณีที่กระทำต่อประชาชน และ เป็นการกระทำต่อบุคคลใดบุคลหนึ่งโดยเฉพาะ

พระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ.๒๕๕๐
               มาตรา ๑๔ ผู้ใดกระทำความผิดที่ระบุไว้ดังต่อไปนี้ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปีหรือปรับไม่เกินหนึ่งแสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
               (๑) โดยทุจริต หรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอมไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ประชาชน อันมิใช่การกระทำความผิดฐานหมิ่นประมาทตามประมวลกฎหมายอาญา

อ้างอิง
สุพิศ ปราณีตพลกรัง. กฎหมาย ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์นิติธรรม, 2560.