คืนเกิดเหตุ จำเลยกับผู้เสียหายเจรจาเรื่องหนี้สินกัน แล้วต่อมาจำเลยนำรถยนต์และกุญแจรถยนต์ของผู้เสียหายไป ซึ่งต่อมาเจ้าพนักงานตำรวจเข้าตรวจยึดรถยนต์คันดังกล่าวได้จากร้านรับซื้อของเก่า รถยนต์ยังคงอยู่ในสภาพเดิม ไม่มีการดัดแปลงเปลี่ยนสภาพ แสดงว่าจำเลยต้องการนำรถยนต์ไปเก็บไว้เป็นการประกันหนี้เพื่อให้ผู้เสียหายมาชำระหนี้คืนแก่จำเลย แต่การบังคับชำระหนี้คืนจากลูกหนี้มีกฎหมายกำหนดขั้นตอนให้ฟ้องร้องดำเนินคดีและบังคับคดีไว้อยู่แล้ว หากจำเลยต้องการบังคับชำระหนี้จากผู้เสียหาย จำเลยย่อมจะต้องดำเนินการภายใต้กรอบหรือหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนดไว้ การที่จำเลยนำรถยนต์ของผู้เสียหายไปเพื่อเป็นการ ประกันหนี้โดยพลการเช่นนี้จึงเป็นการกระทำโดยไม่มีอำนาจใดๆ ตามกฎหมาย ถือได้ว่าเป็นการแสวงหาประโยชน์ที่มิควรได้โดยชอบด้วยกฎหมายสำหรับตนเอง อันเป็นการเอาทรัพย์ของผู้เสียหายไปโดยทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกจึงเป็นความผิดฐานลักทรัพย์
               การที่จำเลยตบศีรษะผู้เสียหายนั้น ไม่ได้ตบเพื่อให้เกิดความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ผู้เสียหายยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น หรือเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้แต่เป็นการตบศีรษะเพื่อบังคับให้ผู้เสียหายเขียนสัญญากู้ยืมเงิน ดังนั้น การตบศีรษะผู้เสียหายกับการเอารถยนต์ผู้เสียหายไปจึงเป็นการกระทำที่แยกขาดจากกัน ไม่ใช่เป็นการใช้กำลังประทุษร้ายเพื่อให้สะดวกแก่การพาทรัพย์นั้นไป หรือให้ยื่นให้ทรัพย์นั้น หรือเพื่อยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้ อันจะเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ กระทำของจำเลยจึงเป็นการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา ๓๓๕ (๑) และทำร้ายผู้อื่นโดยไม่ถึงกับเป็นเหตุให้เกิดอันตรายกายหรือจิตใจตาม ป.อ.มาตรา ๓๙๑ แยกต่างหากจากกัน ทั้งนี้ ความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นไม่ถึงกับเป็นอันตรายแก่กายหรือจิตใจกับความผิดฐานลักทรัพย์ต่างเป็นส่วนหนึ่งของการกระทำหลายอย่าง ซึ่งรวมอยู่ในความผิดฐานปล้นทรัพย์ตามฟ้องโดยแต่ละอย่างเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ซึ่งโจทก์บรรยายฟ้องไว้โดยละเอียดแล้ว ศาลฎีกาจึงมีอำนาจพิพากษาลงโทษจำเลยในการกระทำตามที่พิจารณาได้ความได้ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย นอกจากนี้ การกระทำของจำเลยกับพวกยังเป็นการกระทำอันเป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ซึ่งแม้โจทก์จะไม่ได้ฟ้องขอให้ลงโทษหลายกรรม และไม่มีคู่ความฝ่ายใดอุทธรณ์และฎีกาในปัญหาดังกล่าว แต่ปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัยได้ ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

                    ตามฎีกานี้ ข้อเท็จจริงรถยนต์คันพิพาทเป็นกรรมสิทธิ์ของบริษัท ฮ. ลิสซิ่ง ผู้เสียหายเป็นผู้ครอบครอง

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๖๗๔/๒๕๕๔(ประชุมใหญ่) แม้ข้อเท็จจริงจะฟังได้ว่า จำเลยกับพวกเข้าไปทำร้ายร่างกายผู้เสียหายจนได้รับบาดเจ็บและบังคับเอาทรัพย์สินของผู้เสียหายไปเท่าที่คิดว่าพอกับค่าจ้างที่ผู้เสียหายเป็นหนี้พวกจำเลยอยู่เท่านั้น ไม่ได้เอาทรัพย์สินอื่นๆ ที่มีค่ามากไปด้วยก็ตาม แต่การกระทำของจำเลยกับพวกดังกล่าวเป็นการกระทำที่ไม่มีอำนาจตามกฎหมาย ศาลฎีกาโดยมติที่ประชุมใหญ่ เห็นว่า เป็นการกระทำโดยมีเจตนาทุจริตแล้ว การกระทำของจำเลยกับพวกเป็นการร่วมกันปล้นทรัพย์ของผู้เสียหาย

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๓๓๕ ผู้ใดลักทรัพย์
               (๑) ในเวลากลางคืน
               มาตรา ๓๓๙ ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
                    (๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
               (๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
               (๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
               (๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
               (๕) ให้พ้นจากการจับกุม
               ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงสองแสนบาท
               ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึง สามแสนบาท
               ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึง ยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
               ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
               ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต