คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๓๑๑๒/๒๕๖๐
             จำเลยทั้งสองและ ส. ไม่ได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกของ ห. ตามพินัยกรรมเอกสารฝ่ายเมืองโดยต่างเข้าครอบครองเป็นส่วนสัด และก่อนที่ ส. จะเป็นคนสาบสูญก็ได้ร่วมทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทด้วย จึงถือได้ว่า ส. ครอบครองทรัพย์มรดกที่ยังไม่ได้แบ่งปัน ส. มีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้จะล่วงพ้นกำหนดอายุความ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง นอกจากนี้จำเลยที่ ๒ ได้ยื่นคำร้องขอเป็นผู้จัดการมรดกของ ห. ตามพินัยกรรม และได้มีการโอนที่ดินตามพินัยกรรม ๓ แปลงให้ ส. ก่อนที่จะเป็นคนสาบสูญ แม้ต่อมา ส. จะถูกคนร้ายจับตัวไปก่อนที่ศาลจะมีคำสั่งเป็นคนสาบสูญ ก็ต้องถือว่า ส. ครอบครองที่ดินพิพาท โดยจำเลยทั้งสองครอบครองแทน และหลังจากที่ ส. เป็นคนสาบสูญแล้ว จำเลยที่ ๒ ก็ยังจดทะเบียนให้ ส. มีชื่อถือกรรมสิทธิ์รวมกับจำเลยทั้งสองยิ่งเป็นข้อสนับสนุนว่า ส.ได้ครอบครองทรัพย์มรดกที่ดินพิพาทที่ยังไม่แบ่งปันกัน เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญสิทธิครอบครองที่ดินพิพาทอันเป็นมรดกตามพินัยกรรมที่ยังไม่ได้แบ่งนั้นย่อมเป็นกองมรดกของ ส. ตกทอด แก่ทายาทโดยธรรมของ ส. ซึ่งมีโจทก์รวมอยู่ด้วย โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. ซึ่งถือเป็นผู้แทนของทายาทของ ส. ย่อมได้รับประโยชน์ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง คดีโจทก์ไม่ขาดอายุความ
               จำเลยที่ ๒ ในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการจดทะเบียนให้จำเลยทั้งสอง และ ส. ถือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทแล้ว ที่ดินพิพาทจึงสิ้นความเป็นมรดก และตกเป็นกรรมสิทธิ์รวมของจำเลยทั้งสองและ ส. ตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๔ ทรัพย์สิน หมวด ๓ กรรมสิทธิ์รวม ซึ่งเจ้าของรวมมีสิทธิเรียกให้แบ่งทรัพย์สินได้ตามมาตรา ๑๓๖๓ วรรคหนึ่ง เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ ถือว่าถึงแก่ความตายตามความในมาตรา ๖๒ แห่ง ป.พ.พ. มรดกของ ส. คือกรรมสิทธิ์รวมในที่ดินพิพาทย่อมตกแก่ทายาทของ ส. ที่มีโจทก์รวมอยู่ด้วย ทั้งนี้ ตามมาตรา ๑๖๐๒ วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นทั้งทายาทและผู้จัดการมรดกของ ส. ตามคำสั่งศาล จึงเป็นผู้แทนของทายาทมีสิทธิและหน้าที่อันจำเป็นเพื่อจัดการมรดกโดยทั่วไปหรือเพื่อแบ่งปันทรัพย์มรดกตามมาตรา ๑๗๑๙ รวมทั้งมีอำนาจฟ้องคดีตามมาตรา ๑๗๓๖ เมื่อจำเลยทั้งสองไม่ยอมส่งมอบโฉนดและไม่ยอมแบ่งกรรมสิทธิ์รวม โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง
               ห. ทำพินัยกรรมยกที่ดินพิพาทให้แก่จำเลยทั้งสองและ ส. จึงเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะมีสิทธิและหน้าที่เกี่ยวกับที่ดินพิพาทนั้น ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๕๑ (๒) ปรากฏว่าขณะที่ ห. ถึงแก่ความตาย ที่ดินพิพาทจำนองไว้แก่กรมตำรวจอยู่ จำเลยทั้งสองและ ส. ซึ่งเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะต้องรับภาระผูกพัน คือจำนองที่ติดอยู่กับที่ดินพิพาทร่วมกันตามบทกฎหมายข้างต้นโดยรับภาระจำนองคนละ ๑ ใน ๓ ทั้งนี้ ตาม ป.พ.พ. ตรา ๑๓๖๒ และ ๑๓๖๕ ประกอบมาตรา ๑๗๔๕ เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ไถ่ถอนจำนอง ส. ต้องรับผิดในหนี้ส่วนของตนที่ต้องชำระให้แก่จำเลยที่ ๒ แต่เมื่อ ส. เป็นคนสาบสูญ หนี้ส่วนนี้อันถือว่าเป็นกองมรดกของ ส. จึงตกแก่ทายาทของ ส. ตามมาตรา ๑๖๐๒ วรรคหนึ่ง โจทก์เป็นผู้จัดการมรดกของ ส. จึงต้องชำระเงินค่าไถ่ถอนจำนอง ๑ ใน ๓ ส่วน ให้แก่จำเลยที่ ๒ ผู้รับช่วงสิทธิในมูลหนี้จำนองที่ได้ชำระไปแล้ว ตามมาตรา ๒๒๖ ประกอบมาตรา ๒๒๙ (๓) ก่อน ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของ ประชาชน ศาลฎีกามีอำนาจหยิบยกขึ้นวินิจฉัย ทั้งนี้ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบมาตรา ๒๔๖ และ ๒๔๗

เพิ่มเติม
               ตามบทบัญญัติมาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง หมายถึงทายาทนั้นได้ครอบครองทรัพย์มรดกประการหนึ่ง และทรัพย์มรดกที่ครอบครองนั้นยังมิได้แบ่งปันกันระหว่างทายาทอีกประการหนึ่ง ซึ่งหากขาดหลักเกณฑ์ ประการใดประการหนึ่งแล้วก็ไม่อาจจะอ้างบทบัญญัติมาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง มาบังคับได้
               ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตามมาตรา ๑๖๕๑(๑) หมายถึง บุคคลที่เจ้ามรดกทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่างซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ
               ฎีกาที่ ๑๖/๒๔๙๑ ผู้ตายทำพินัยกรรมยกห้องแถว ๒ ห้องให้แก่ โจทก์ ปรากฏว่าขณะถึงแก่ความตายห้องแถวนั้นติดจำนอง ศาลพิพากษาให้ทายาทหรือ ผู้จัดการมรดกไถ่ถอนจำนอง จำเลยเป็นผู้จัดการมรดกได้ไถ่ถอนจำนองคิดเป็นเงิน ๒,๒๗๕ บาท ย่อมถือว่าโจทก์เป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะตามมาตรา ๑๖๕๑ (๒) ต้องรับภาระผูกพันคือจำนองที่ติดอยู่กับห้องแถวด้วย จึงฟ้องจำเลยขอให้โอนตึกแถวโดยไม่ยอมชำระเงินไถ่ถอนจำนองไม่ได้

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๖๕๑  ภายใต้บังคับบทบัญญัติลักษณะ ๔
               (๑) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์มรดกทั้งหมดของเจ้ามรดก หรือตามเศษส่วน หรือตามส่วนที่เหลือแห่งทรัพย์มรดก ซึ่งมิได้แยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่าผู้รับพินัยกรรมลักษณะทั่วไป และมีสิทธิและความรับผิดเช่นเดียวกับทายาทโดยธรรม
               (๒) เมื่อตามข้อกำหนดพินัยกรรม บุคคลใดมีสิทธิที่จะได้รับทรัพย์สินเฉพาะสิ่งเฉพาะอย่าง ซึ่งเจาะจงไว้โดยเฉพาะ หรือแยกไว้ต่างหากเป็นพิเศษจากกองมรดก บุคคลนั้นเรียกว่า ผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ และมีสิทธิและความรับผิดที่เกี่ยวกับทรัพย์สินเท่านั้น
               ในกรณีที่มีข้อสงสัย ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่า ผู้รับพินัยกรรมเป็นผู้รับพินัยกรรมลักษณะเฉพาะ

อ้างอิง
กีรติ กาญจนรินทร์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ มรดก. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์กรุงสยามพับลิชชิ่ง, ๒๕๖๐.