จำเลยผู้รับโอนทรัพย์ซึ่งจำนองบอกกล่าวแจ้งความประสงค์ไถ่ถอนจำนองแก่โจทก์ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๓๘ โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้ได้รับคำเสนอวันที่ ๑๙ มีนาคม ๒๕๕๘ จะไม่ยอมรับคำเสนอได้ก็ด้วยการฟ้องคดีเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้นภายในวันที่ ๑๙ เมษายน ๒๕๕๘ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๓๙ การที่โจทก์ไม่แจ้งว่าเห็นชอบกับข้อเสนอของจำเลยหรือไม่ จะถือเป็นการไม่ยอมรับคำเสนอของจำเลยที่จะให้สิทธิแก่จำเลยสามารถไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการใช้เงินหรือการวางเงินตามจำนวนที่เสนอว่าจะใช้แทนการชำระหนี้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๔๑ หาได้ไม่ เมื่อครบกำหนด ๑ เดือน ที่โจทก์ไม่ฟ้องคดี จำเลยมิได้ใช้เงินหรือวางเงินตามจำนวนที่เสนอว่าจะใช้ภายในกำหนด ๖๐ วัน ตามคำเสนอของจำเลยจึงไม่เป็นการไถ่ถอนจำนองตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๔๑ แม้หลังจากนั้นจำเลยมีหนังสือลงวันที่ ๑๑ กันยายน ๒๕๕๘ ถึงโจทก์ขอให้กำหนดวันไถ่ถอนจำนองและขอชำระเงินในวันนัดไถ่ถอน ณ สำนักงานที่ดิน แต่ภายหลังพ้นกำหนด ๖๐ วัน ตามคำเสนอของจำเลยแล้ว ทั้งหนังสือดังกล่าวไม่ได้กำหนดวันชำระเงินจึงยังไม่อาจถือว่ามีคำเสนอไถ่ถอนจำนองขึ้นใหม่ ต่อมาวันที่ ๒๙ กันยายน ๒๕๕๘ จำเลยมีหนังสือถึงโจทก์ปฏิเสธการชำระหนี้ตามที่โจทก์มีหนังสือลงวันที่ ๑๗ กันยายน ๒๕๕๘ และขอชำระเงินไถ่ถอนจำนองตามจำนวนที่เสนอว่าจะใช้ดังกล่าวอีก โดยจะชำระในวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๕๘ ดังนี้ถือได้ว่าจำเลยมีคำเสนอที่จะไถ่ถอนจำนองขึ้นใหม่ โจทก์ฟ้องคดีนี้วันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๕๘ ภายใน ๑ เดือน นับแต่วันที่รับคำเสนอ จึงเป็นการไม่ยอมรับคำเสนอด้วยการฟ้องคดีตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๓๙ จำเลยไม่อาจไถ่ถอนจำนองด้วยการชำระเงินตามจำนวนที่เสนอว่าจะใช้ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๗๓๘ ได้

เพิ่มเติม
               กรณีเจ้าหนี้ไม่ยอมรับคำเสนอตามมาตรา ๗๓๙ ต้องฟ้องคดีต่อศาลภายใน ๑ เดือน นับแต่วันได้รับคำเสนอ กรณีเช่นนี้ไม่จำเป็นต้องจดหมายบอกกล่าวผู้รับโอนว่าปฏิเสธไม่ยอมรับคำเสนอ โดยจะต้องฟ้องบังคับจำนองแก่ผู้รับโอนให้ชำระหนี้เพื่อให้ศาลสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนอง
                    ถ้าเจ้าหนี้ยอมรับคำเสนอตามมาตรา ๗๔๑ ผู้รับโอนมีสิทธิตามคำเสนอนั้นคือเอาเงินไปชำระแก่เจ้าหนี้ทุกรายด้วยตนเอง ในกรณีบางรายไม่ยอมรับเงิน แต่ไม่ฟ้องคดีตามมาตรา ๗๓๙ ผู้รับโอนมีสิทธินำเงินไปวางไว้ ณ สำนักงานวางทรัพย์ได้ และถือว่าเป็นการไถ่ถอนจำนองแล้ว

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๗๓๘ ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น
               คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ
               (๑) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง
               (๒) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์
               (๓) ชื่อเจ้าของเดิม
               (๔) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน
               (๕) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้
               (๖) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน
               อนึ่ง ให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย
               มาตรา ๗๓๙ ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอ เจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่าเจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดังจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ
               (๑) ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด
               (๒) ต้องเข้าสู้ราคาเอง หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้
               (๓) บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่น ๆ บรรดาได้จดทะเบียน กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย
                    มาตรา ๗๔๑ เมื่อเจ้าหนี้ทั้งหลายได้สนองรับคำเสนอทั่วทุกคนแล้ว โดยแสดงออกชัดหรือโดยปริยายก็ดี ท่านว่าจำนองหรือบุริมสิทธิก็เป็นอันไถ่ถอนได้ด้วยผู้รับโอนใช้เงิน หรือวางเงินตามจำนวนที่เสนอจะใช้แทนการชำระหนี้

อ้างอิง
ปัญญา ถนอมรอด. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วย ยืม ค้ำประกัน จำนอง จำนำ. พิมพ์ครั้งที่ 12. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บริษัท กรุงสยาม พับลิชชิ่ง จำกัด, 2560.