คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๐๖๕/๒๕๖๓(ประชุมใหญ่) 

               ตามคำขอใช้สิทธิรับเงินคืนตามโครงการมาตรการรถยนต์คันแรกและเงื่อนไขสำหรับรถยนต์ใหม่คันแรกตามนโยบายรัฐบาล มีข้อตกลงให้โจทก์มีสิทธิคิดดอกเบี้ยจากจำเลยได้เฉพาะในกรณีที่จำเลยผิดนัดไม่นำเงินที่ได้รับไปส่งคืนให้แก่โจทก์ภายในระยะเวลาที่โจทก์แจ้ง มิได้ให้สิทธิโจทก์ที่จะคิดดอกเบี้ยก่อนผิดนัด การตกลงในเรื่องดอกเบี้ยไว้เช่นนี้ แม้จะชอบด้วยประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๒๒๔ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่การคิดดอกเบี้ยเนื่องจากการไม่ชำระหนี้ ต้องถือว่าเป็นข้อตกลงกำหนดเบี้ยปรับอย่างหนึ่ง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๓๗๙ ศาลมีอำนาจที่จะปรับลดเบี้ยปรับที่สูงเกินส่วนลงได้เป็นจำนวนพอสมควรตาม มาตรา ๓๘๓ วรรคหนึ่ง

 

               ตามฎีกานี้ จำเลยเข้าร่วมโครงการรถยนต์ใหม่คันแรก โดยจำเลยยื่นคำขอใช้สิทธิรับเงินคืน(เงินภาษีสรรพสามิต) แต่จำเลยผิดนัดชำระหนี้ค่างวดเช่าซื้อ ๓ งวดติดต่อกัน ก่อนครบกำหนดระยะเวลา ๕ ปี ผู้ให้เช่าซื้อบอกเลิกสัญญาและยึดรถคืน โจทก์(กรมสรรพสามิต) จึงเรียกเงินคืนจากจำเลย  

               ข้อตกลงจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเมื่อไม่ชำระหนี้หรือชำระหนี้ไม่ถูกต้องสมควร ถือเป็นเบี้ยปรับ(ฎีกาที่ ๗๖๑๘/๒๕๕๒)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๓๗๙ ถ้าลูกหนี้สัญญาแก่เจ้าหนี้ว่าจะใช้เงินจำนวนหนึ่งเป็นเบี้ยปรับเมื่อตนไม่ชำระหนี้ก็ดี หรือไม่ชำระหนี้ให้ถูกต้องสมควรก็ดี เมื่อลูกหนี้ผิดนัดก็ให้ริบเบี้ยปรับ ถ้าการชำระหนี้อันจะพึงทำนั้นได้แก่งดเว้นการอันใดอันหนึ่ง หากทำการอันนั้นฝ่าฝืนมูลหนี้เมื่อใด ก็ให้ริบเบี้ยปรับเมื่อนั้น

               มาตรา ๓๘๓ ถ้าเบี้ยปรับที่ริบนั้นสูงเกินส่วน ศาลจะลดลงเป็นจำนวนพอสมควรก็ได้ ในการที่จะวินิจฉัยว่าสมควรเพียงใดนั้น ท่านให้พิเคราะห์ถึงทางได้เสียของเจ้าหนี้ทุกอย่างอันชอบด้วยกฎหมาย ไม่ใช่แต่เพียงทางได้เสียในเชิงทรัพย์สิน เมื่อได้ใช้เงินตามเบี้ยปรับแล้ว สิทธิเรียกร้องขอลดก็เป็นอันขาดไป

               นอกจากกรณีที่กล่าวไว้ในมาตรา ๓๗๙ และ ๓๘๒ ท่านให้ใช้วิธีเดียวกันนี้บังคับ ในเมื่อบุคคลสัญญาว่าจะให้เบี้ยปรับเมื่อตนกระทำหรืองดเว้นกระทำการอันหนึ่งอันใดนั้นด้วย