คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๘๓๐/๒๕๖๒ 


               ในคดีอาญาพนักงานอัยการโจทก์ฟ้องจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ต่อศาลชั้นต้น ในความผิดฐานร่วมกันฉ้อโกงกับมีคำขอให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืนหรือใช้เงินที่ผู้เสียหายส่งมอบให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ แก่ผู้เสียหาย คือโจทก์คดีนี้ ซึ่งเป็นคำขอในส่วนแพ่งที่พนักงานอัยการโจทก์ฟ้องคดีแทนโจทก์คดีนี้ด้วย ทั้งคดีอาญาดังกล่าวโจทก์คดีนี้ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตเข้าเป็นโจทก์ร่วมกับพนักงานอัยการซึ่งศาลชั้นต้นอนุญาต เมื่อเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินรายเดียวกันกับที่โจทก์ฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ คืนในคดีนี้ โดยโจทก์ยื่นคำฟ้องในระยะเวลาที่คดีอาญาอยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๕ ฟ้องโจทก์ สำหรับจำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ในส่วนเงินที่ส่งมอบอันเป็นต้นเงินที่เรียกร้องในคดีนี้ เป็นฟ้องซ้อนกับคดีส่วนแพ่งในคดีอาญาดังกล่าวของศาลชั้นต้น ต้องห้ามมิให้โจทก์ยื่นคำฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๓ วรรคสอง (๑) แต่ในส่วนดอกเบี้ย พนักงานอัยการไม่ได้ขอให้ชดใช้ในคดีอาญาจึงไม่เป็นฟ้องซ้อน

 

               ตามฎีกานี้ ในคดีอาญาศาลชั้นต้นมีคำพิพากษายกฟ้องโจทก์

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๑๐๓๙/๒๕๑๖ (ประชุมใหญ่) วินิจฉัยว่า ในคดีที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ฟ้องว่าจำเลยลักทรัพย์ กับขอให้จำเลยคืนหรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายด้วยนั้น แม้ศาลจะพิพากษายกฟ้องคดีส่วนอาญา แต่เมื่อคำขอส่วนแพ่งเป็นคำขอที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาที่โจทก์ฟ้อง ดังนี้ อำนาจของพนักงานอัยการที่จะว่ากล่าวเกี่ยวกับคำขอส่วนแพ่งยังคงมีอยู่ต่อไป ศาลจึงมีอำนาจสั่งให้จำเลยคืน หรือใช้ราคาทรัพย์แก่ผู้เสียหายได้

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง

               มาตรา ๑๗๓ เมื่อศาลได้รับคำฟ้องแล้ว ให้ศาลออกหมายส่งสำเนาคำฟ้องให้แก่จำเลยเพื่อแก้คดี และภายในกำหนดเจ็ดวันนับแต่วันยื่นคำฟ้องให้โจทก์ร้องขอต่อ พนักงานเจ้าหน้าที่เพื่อให้ส่งหมายนั้น ๆ

               นับแต่เวลาที่ได้ยื่นคำฟ้องแล้ว คดีนั้นอยู่ในระหว่างพิจารณา และผลแห่งการนี้ 

                    (๑) ห้ามไม่ให้โจทก์ยื่นคำฟ้องเรื่องเดียวกันนั้นต่อศาลเดียวกัน หรือต่อศาลอื่นและ

                    (๒) ถ้ามีเหตุเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในพฤติการณ์อันเกี่ยวด้วยการยื่นฟ้องคดีต่อศาลที่มีเขตศาลเหนือคดีนั้น เช่น การเปลี่ยนแปลงภูมิลำเนาของจำเลย การเปลี่ยนแปลงเช่นว่านี้หาตัดอำนาจศาลที่รับฟ้องคดีไว้ในอันที่จะพิจารณาและชี้ขาดตัดสินคดีนั้นไม่