พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ.๒๕๐๗ มาตรา ๑๔ ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๘ กำหนดหลักการไว้ว่า ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ห้ามไม่ให้บุคคลใดยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัย เว้นแต่จะได้รับอนุญาตตามกฎหมายดังนี้ การห้ามมิให้บุคคลใดเข้าไปทำประโยชน์ในป่าสงวนแห่งชาติจึงถือเป็นหลักส่วนการอนุญาตถือเป็นข้อยกเว้น การพิจารณาจะอนุญาตให้บุคคลใดบุคคลหนึ่งเข้าไปทำประโยชน์จึงต้องพิจารณาโดยเคร่งครัดตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้เท่านั้น เมื่อมาตรา ๑๖ แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติเงื่อนไขไว้ว่า อธิบดีโดยอนุมัติรัฐมนตรีมีอำนาจอนุญาตให้บุคคลหนึ่งบุคคลใดเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในเขตป่าสงวนแห่งชาติได้จะต้องเข้าเงื่อนไขตามกรณีที่บัญญัติไว้ เช่นนี้ จึงต้องตีความโดยเคร่งครัดว่า บุคคลที่จะเข้าทำประโยชน์หรือยู่อาศัยได้จะต้องเป็นผู้ได้รับอนุญาตโดยอธิบดี กฎหมายไม่ได้กำหนดให้บุคคลที่ได้รับอนุญาตเข้าทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยตามมาตรา ๑๖ สามารถที่จะโอนสิทธิของตนไปให้แก่บุคคลอื่นได้ ผู้ได้รับหนังสืออนุญาตจึงไม่สามารถโอนสิทธิตามหนังสืออนุญาตหรือนำสิทธิดังกล่าวไปให้บุคคลอื่นเช่าได้
               จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์โดยเข้าทำสวนปาล์มน้ำมันในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ถือเป็นสิทธิเฉพาะตัวของจำเลยที่ ๑ เท่านั้น จำเลยที่ ๑ ไม่อาจที่จะอนุญาตโอนสิทธิให้บุคคลอื่นได้ ดังนี้ การที่จำเลยที่ ๑ ทำสัญญาตกลงอนุญาตให้โจทก์มีสิทธิเข้าครอบครองใช้ที่ดินและทำประโยชน์ทำสวนปาล์มน้ำมันจึงเป็นการทำนิติกรรมเปลี่ยนตัวผู้ได้รับอนุญาตหรือโอนสิทธิตามที่จำเลยที่ ๑ ได้รับอนุญาตให้แก่บุคคลอื่นสัญญาดังกล่าวจึงเป็นนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายจึงตกเป็นโมฆะ ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๕๐ โจทก์จึงไม่มีสิทธิเรียกร้องนำคดีนี้มาฟ้องเพื่อบังคับจำเลยที่ ๑ ให้ปฏิบัติตามสัญญาให้ใช้ที่ดินเพื่อทำประโยชน์

เพิ่มเติม
               วัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หมายถึง การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดเจน ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติห้ามนี้อาจเป็น กฎหมายแพ่ง หรือ กฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นใดก็ได้ ที่สำคัญกฎหมายนั้นต้องบัญญัติห้ามไว้โดยชัดเจน และที่สำคัญคือต้องมีอยู่ขณะทำนิติกรรมนั้น และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้วยเสมอ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

อ้างอิง
ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561.