ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ มิได้บัญญัติว่า ถ้านายจ้างไม่ได้แจ้งเหตุผลในการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบในขณะเลิกจ้างแล้ว นายจ้างจะยกเหตุแห่งการเลิกจ้างขึ้นมาอ้างภายหลังไม่ได้ แม้จำเลยจะไม่ได้ระบุเหตุโจทก์กระทำความผิดไว้ในหนังสือเลิกจ้าง จำเลยย่อมยกการกระทำความผิดของโจทก์เป็นเหตุผลในการเลิกจ้างได้ โจทก์มีปัญหาในการทำงานกับพนักงานอื่นจนไม่สามารถทำงานร่วมกันได้ มีปัญหากับลูกค้าไม่สามารถปรับปรุงตัวได้ การที่จำเลยเลิกจ้างโจทก์ด้วยสาเหตุดังกล่าวตามที่จำเลยให้การไว้จึงเป็นการเลิกจ้างโดยเหตุผลอันสมควรแล้ว มิใช่การเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

               ตามฎีกานี้ หนังสือเลิกจ้างระบุแต่เพียงว่ายุบตำแหน่งของโจทก์ เท่านั้น ซึ่งไม่ได้ระบุการกระทำผิดของโจทก์ จึงมีปัญหาต้องวินิจฉัยตามอุทธรณ์ของโจทก์ว่า เป็นการเลิกจ้างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่เป็นธรรมหรือไม่ ซึ่งศาลฎีกา เห็นว่า การพิจารณาว่าจำเลยจะต้องจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรมหรือไม่ จะต้องพิจารณาตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแรงงานและวิธีพิจารณาคดีแรงงาน พ.ศ.๒๕๒๒ มาตรา ๔๙ ซึ่งบัญญัติว่า “การพิจารณาคดีในกรณีนายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่า การเลิกจ้างลูกจ้างผู้นั้นไม่เป็นธรรมต่อลูกจ้าง ศาลแรงงานอาจสั่งให้นายจ้างรับลูกจ้างผู้นั้นเข้าทำงานต่อไปในอัตราค่าจ้างที่ได้รับในขณะที่เลิกจ้าง ถ้าศาลแรงงานเห็นว่าลูกจ้างกับนายจ้างไม่อาจทำงานร่วมกันต่อไปได้ ให้ศาลแรงงานกำหนดจำนวนค่าเสียหายให้นายจ้างชดใช้ให้แทนโดยให้ศาลคำนึงถึงอายุของลูกจ้าง ระยะเวลาการทำงานของลูกจ้าง ความเดือดร้อนของลูกจ้างเมื่อถูกเลิกจ้าง มูลเหตุแห่งการเลิกจ้างและเงินค่าชดเชยที่ลูกจ้างมีสิทธิได้รับ ประกอบการพิจารณา” ดังนั้น ในประเด็นเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม แม้ในหนังสือเลิกจ้างไม่ได้ระบุการกระทำผิดของโจทก์ไว้ จำเลยก็ยกเป็นข้อต่อสู้ในคำให้การได้ ตามคำพิพากษาฎีกาที่ ๒๘๙๖/๒๕๖๑ นี้