ช. กรรมการผู้มีอำนาจของบริษัทจำเลยได้มีหนังสือลาออกจากตำแหน่งกรรมการลงวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ โดยจำเลยได้รับหนังสือลาออกในวันเดียวกัน การลาออกจากตำแหน่งกรรมการของ ช. มีผลเป็นการพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่วันที่หนังสือลาออกไปถึง จำเลยคือวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ แม้หนังสือลาออกระบุให้การลาออกมีผลในวันที่ที่ประชุมผู้ถือหุ้นมีมติอนุมัติ ซึ่งเป็นเพียงการแสดงเจตนาฝ่ายเดียวของ ช. แต่หนังสือลาออกจะมีผลเป็นการพ้นจากตำแหน่งนับตั้งแต่เมื่อใดย่อมต้องอยู่ภายใต้ข้อบังคับของบริษัทจำเลยกำหนดไว้หรือตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย เมื่อ ช. พ้นจากตำแหน่งกรรมการของจำเลยแล้วตั้งแต่วันที่ ๒๐ เมษายน ๒๕๕๕ จึงมิใช่กรรมการของจำเลยที่จะมีอำนาจเรียกประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของ จำเลยครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ ได้ กรณีมีเหตุให้เพิกถอนรายงานการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของจำเลยครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕ และเพิกถอนมติของที่ประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบริษัทจำเลยครั้งที่ ๑/๒๕๕๕ ลงวันที่ ๓๐ เมษายน ๒๕๕๕

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๒๗๔๗/๒๕๖๐ โจทก์ยื่นใบลาออกต่อจำเลยเพื่อลาออกจากตำแหน่งกรรมการโดยส่งหนังสือยืนยันการลาออกให้แก่กรรมการผู้จัดการของจำเลยไปยังที่ตั้งสำนักงานแห่งใหญ่ของจำเลย จำเลยได้รับหนังสือแล้วเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ การลาออกมีผลนับแต่วันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๕๖ ซึ่งเป็นวันที่ใบลาออกไปถึงจำเลยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๑๕๓/๑ วรรคหนึ่ง โจทก์จึงไม่ได้เป็นกรรมการของจำเลยอีกต่อไปแล้ว
               การเริ่มต้นการเรียกประชุมวิสามัญ
               ๑.เรียกประชุมโดยกรรมการ ซึ่งจะต้องดำเนินการในรูปคณะกรรมการ กล่าวคือจะต้องมีมติของกรรมการก่อน กรรมการคนเดียวไม่มีอำนาจเรียกประชุมได้(ฎีกาที่ ๔๕๒/๒๕๑๘,๒๕๖๔/๒๕๓๒)
               ๒.เรียกประชุมโดยผู้ถือหุ้น เมื่อผู้ถือหุ้นไม่น้อยกว่าหนึ่งในห้าขอให้คณะกรรมการเรียกประชุม
               เหตุที่จะมีการร้องขอเพิกถอนมติที่ประชุมใหญ่ตามมาตรา ๑๑๙๕ เพราะเหตุฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์และหรือข้อบังคับบริษัท ในเหตุ ๓ ประการ ดังนี้คือ
               ๑.การนัดประชุมไม่ชอบ
               ๒.การประชุมไม่ชอบ
               ๓.การลงมติไม่ชอบ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๑๕๓/๑ กรรมการคนใดจะลาออกจากตำแหน่ง ให้ยื่นใบลาออกต่อบริษัท การลาออกมีผลนับแต่วันที่ใบลาออกไปถึงบริษัท
               กรรมการซึ่งลาออกตามวรรคหนึ่ง จะแจ้งการลาออกของตนให้นายทะเบียนทราบด้วยก็ได้
               มาตรา ๑๑๗๒ กรรมการจะเรียกประชุมวิสามัญเมื่อใดก็ได้สุดแต่จะเห็นสมควร
               มาตรา ๑๑๙๕ การประชุมใหญ่นั้นถ้าได้นัดเรียกหรือได้ประชุมกัน หรือได้ลงมติฝ่าฝืนบทบัญญัติในลักษณะนี้ก็ดี หรือฝ่าฝืนข้อบังคับของบริษัทก็ดี เมื่อกรรมการหรือผู้ถือหุ้นคนหนึ่งคนใดร้องขึ้นแล้ว ให้ศาลเพิกถอนมติของที่ประชุมใหญ่อันผิดระเบียบนั้นเสีย แต่ต้องร้องขอภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันลงมตินั้น

อ้างอิง
เอื้อน ขุนแก้ว. กฎหมายหุ้นส่วนและบริษัท. พิมพ์ครั้งที่ 4. กรุงเทพฯ: สำนักพิมพ์บริษัท กรุงสยาม พับลิชชิ่ง จำกัด, 2561.