ผู้ตายทำพินัยกรรมยกทรัพย์สินทั้งหมดให้แก่จำเลยโดยระบุรายการทรัพย์สินแต่เพียง บ้าน รถยนต์ และเงินฝาก โดยไม่ระบุถึงที่ดินที่บ้านตั้งอยู่ บ้านจะหมายความรวมถึงที่ดินพิพาทที่บ้านตั้งอยู่ด้วยหรือไม่ เป็นกรณีที่ความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๔๔ จำเลยย่อมมีสิทธินำพยานมาสืบถึงความประสงค์ของผู้ตายได้ไม่ใช่เป็นการนำสืบเปลี่ยนแปลงแก้ไขข้อความในเอกสาร ซึ่งต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๙๔

               ตามฎีกานี้ มีประเด็นว่าผู้ตายยกที่ดินพิพาทให้จำเลยด้วยหรือไม่ ซึ่งข้อเท็จจริงปรากฏว่าบ้านปลูกสร้างเต็มพื้นที่ที่ดินพิพาท มีพื้นที่ว่างหน้าบ้านเพียงเล็กน้อยเท่านั้น การที่ผู้ตายเขียนพินัยกรรมยกบ้านให้จำเลย จึงเชื่อว่าผู้ตายมีความประสงค์จะยกบ้านพร้อมที่ดินพิพาทให้จำเลยด้วยเพื่อให้ใช้อยู่อาศัยได้ ไม่ใช่ยกเฉพาะบ้านให้จำเลยรื้อไป
                   
เพิ่มเติม
               การตีความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมที่อาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุดตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๖๘๔ และต้องเพ่งเล็งถึงเจตนาอันแท้จริงยิ่งกว่าถ้อยค่าสำนวนตามตัวอักษรตามมาตรา ๑๗๑ จึงต้องพิจารณาจากข้อความที่กำหนดในพินัยกรรมเพื่อหาเจตนาที่แท้จริงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นเช่นไร(ฎีกาที่ ๑๒๙๗๒/๒๕๕๗)
                    การทำพินัยกรรมอาจกำหนดการเพื่อตายในเรื่องทรัพย์สินที่จะได้มาในอนาคตได้ เมื่อผู้ตายทำพินัยกรรมมีข้อความระบุว่าทรัพย์สินของผู้ตายที่มีอยู่ในขณะที่ทำพินัยกรรมหรือที่จะมีขึ้นในภายหน้าผู้ตายยกให้แก่จำเลยแต่ผู้เดียว ดังนั้น ทรัพย์มรดกของผู้ตายที่ได้มาภายหลังผู้ตายทำพินัยกรรมก็ย่อมตกเป็นของจำเลยตามพินัยกรรมดังกล่าวด้วย(ฎีกาที่ ๓๕๒๓/๒๕๓๒)

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๖๘๔ เมื่อความข้อใดข้อหนึ่งในพินัยกรรมอาจตีความได้เป็นหลายนัย ให้ถือเอาตามนัยที่จะสำเร็จผลตามความประสงค์ของผู้ทำพินัยกรรมนั้นได้ดีที่สุด