โจทก์บรรยายฟ้องว่า ปี ๒๕๓๖ อ. สามีโจทก์นำที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสโอนยกให้แก่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ เป็นกรณีที่โจทก์กล่าวอ้างว่า อ. จัดการสินสมรสโดยฝ่าฝืนประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๗๖ และมาตรา ๑๔๘๐ กรณีนี้หากโจทก์ประสงค์จะให้ที่ดินกลับมาเป็นสินสมรสเพื่อโจทก์จะได้มีสิทธิในสินสมรสส่วนของโจทก์ โจทก์ต้องดำเนินการฟ้องเพิกถอนให้ที่ดินนั้นกลับมาเป็นสินสมรสของโจทก์กับ อ. ก่อนโดยฟ้องของโจทก์ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๔๘๐ วรรคหนึ่ง มิใช่เป็นเรื่องที่โจทก์จะฟ้องคดีเพื่อใช้สิทธิติดตามเอาทรัพย์คืนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ และโจทก์ต้องใช้สิทธิฟ้องคดีภายในระยะเวลาตามมาตรา ๑๔๘๐ วรรคสอง และมาตรา ๑๙๓/๙ ตามที่จำเลยที่ ๑ ถึงที่ ๓ ให้การต่อสู้ว่า โจทก์ไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนนิติกรรมการให้หรือเรียกทรัพย์คืนเนื่องจากโจทก์ฟ้องคดีเกินกว่า ๑๐ ปี นับแต่วันทำนิติกรรมแล้ว
               จำเลยที่ ๔ ขาดนัดยื่นคำให้การ ถือว่ามีประเด็นแห่งคดีตามสภาพแห่งข้อหาตามคำฟ้องโจทก์ โจทก์มีหน้าที่นำสืบให้ได้ความตามฟ้อง แต่จำเลยที่ ๔ ยังคงมีสิทธิถามค้านพยานโจทก์เพื่อที่จะหักล้างพยานหลักฐานของโจทก็ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๙๙ ประกอบพระราชบัญญัติศาลเยาวชนและครอบครัว และวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๖ เมื่อโจทก์นำสืบไม่สมตามฟ้องว่า อ. โอนที่ดินที่เป็นสินสมรสให้แก่จำเลยที่ ๔ โดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ โจทก์จึงไม่มีสิทธิฟ้องเพิกถอนการโอนที่ดินจากจำเลยที่ ๔

               ตามฎีกานี้ ฟ้องของโจทก์ต้องบังคับตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๓๖ หรือมาตรา ๑๔๘๐
               จำเลยทั้งสี่เป็นบุตรของโจทก์ กับ อ.

เพิ่มเติม
               ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาตรา ๑๓๓๖ บัญญัติว่าภายในบังคับแห่งกฎหมาย เจ้าของทรัพย์สินมีสิทธิ..ติดตามและเอาคืนซึ่งทรัพย์สินของตนมาตรา ๑๓๕๖ บัญญัติว่าถ้าทรัพย์สินเป็นของบุคคลหลายคนรวมกัน ท่านให้ใช้บทบัญญัติหมวดนี้บังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นจากบทบัญญัติตามมาตรา ๑๓๓๖ และมาตรา ๑๓๕๖ ที่ว่าเจ้าของทรัพย์สินจะใช้สิทธิติดตามเอาคืนได้ต้องอยู่ภายในบังคับกฎหมาย และกรณีมีเจ้าของทรัพย์สินหลายคนจะใช้บทบัญญัติหมวดเจ้าของกรรมสิทธิ์รวมบังคับ เว้นแต่จะมีกฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่น หมายความว่า หากมีกฎหมายอื่นบัญญัติไว้หรือ กฎหมายบัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นแล้วต้องบังคับตามบทกฎหมายนั้น จะนำสิทธิต่างๆ ตามมาตรา ๑๓๓๖ และบทบัญญัติเรื่องกรรมสิทธิ์รวม มาตรา ๑๓๕๖ ถึง ๑๓๖๖ มาใช้บังคับไม่ได้(ฎีกาที่ ๒๕๐๑/๒๕๖๑)
               การขอให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมในการจัดการสินสมรสที่คู่สมรสทำไปโดยลำพังนี้จะต้องฟ้องเป็นคดีโดยเฉพาะเจาะจง จะร้องเข้ามาในคดีที่ตนมิได้เป็นคู่ความไม่ได้ เช่น สามีฟ้องนายแดงให้ชดใช้ค่าเสียหายที่ขับรถมาชนรถยนต์สินสมรสเป็นเงิน ๒๐๐,๐๐๐ บาท สามีทำสัญญาประนีประนอมยอมความในศาลยอมรับค่าสินไหมทดแทนเพียง ๑๕๐,๐๐๐ บาท โดยไม่ได้รับความยินยอมจากภริยา ภริยาจะยื่นคำร้องในคดีนี้ขอให้เพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความไม่ได้ ต้องนำคดีไปฟ้องขอให้ศาลเพิกถอนสัญญาประนีประนอมยอมความเป็นอีกคดีหนึ่งต่างหาก(ฎีกาที่ ๓๗๗๕/๒๕๔๖) เป็นต้น

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๔๗๖ สามีและภริยาต้องจัดการสินสมรสร่วมกันหรือได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่งใน กรณีดังต่อไปนี้
               (๑) ขาย แลกเปลี่ยน ขายฝาก ให้เช่าซื้อ จำนอง ปลดจำนอง หรือโอนสิทธิจำนอง ซึ่งอสังหาริมทรัพย์ หรือสังหาริมทรัพย์ที่อาจจำนองได้
               (๒) ก่อตั้งหรือกระทำให้สุดสิ้นลงทั้งหมดหรือบางส่วนซึ่งภาระจำยอม สิทธิอาศัย สิทธิเหนือพื้นดิน สิทธิเก็บกิน หรือภาระติดพันในอสังหาริมทรัพย์
               (๓) ให้เช่าอสังหาริมทรัพย์เกินสามปี
               (๔) ให้กู้ยืมเงิน
               (๕) ให้โดยเสน่หา เว้นแต่การให้ที่พอควรแก่ฐานานุรูปของครอบครัวเพื่อการกุศล เพื่อการสังคม หรือ ตามหน้าที่ธรรมจรรยา
               (๖) ประนีประนอมยอมความ
               (๗) มอบข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการวินิจฉัย
               (๘) นำทรัพย์สินไปเป็นประกันหรือหลักประกันต่อเจ้าพนักงานหรือศาล
               การจัดการสินสมรสนอกจากกรณีที่บัญญัติไว้ในวรรคหนึ่ง สามีหรือภริยาจัดการได้โดยมิต้องได้รับความ ยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง
               มาตรา ๑๔๘๐ การจัดการสินสมรสซึ่งต้องจัดการร่วมกันหรือต้องได้รับความยินยอมจากอีกฝ่ายหนึ่ง ตามมาตรา ๑๔๗๖ ถ้าคู่สมรสฝ่ายหนึ่งได้ทำนิติกรรมไปแต่เพียงฝ่ายเดียว หรือโดยปราศจากความยินยอมของคู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่ง คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งอาจฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมนั้นได้ เว้นแต่คู่สมรสอีกฝ่ายหนึ่งได้ให้สัตยาบันแก่นิติกรรมนั้นแล้ว หรือในขณะที่ทำนิติกรรมนั้นบุคคลภายนอกได้กระทำโดยสุจริตและเสียค่าตอบแทน
               การฟ้องให้ศาลเพิกถอนนิติกรรมตามวรรคหนึ่งห้ามมิให้ฟ้องเมื่อพ้นหนึ่งปี นับแต่วันที่ได้รู้เหตุอันเป็น มูลให้เพิกถอน หรือเมื่อพ้นสิบปีนับแต่วันที่ได้ทำนิติกรรมนั้น

อ้างอิง
ประสพสุข บุญเดช. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ว่าด้วยครอบครัว. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรุงเทพฯ: สำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา, 2559.