ที่ดินพิพาทเป็นที่ดินตามใบจองซึ่งเป็นที่ดินของรัฐที่ยอมให้ ม. เข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทชั่วคราว เมื่อ ม. ถึงแก่ความตาย สิทธิในที่ดินพิพาทตามใบจองย่อมตกทอดแก่ ก. และทายาทอื่นของ ม. ซึ่งไม่ใช่โจทก์ แม้หากผู้จัดการมรดกของ ก. ขายที่ดินพิพาทให้แก่บริษัท ป. ซึ่งให้จำเลยทั้งสามเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทและรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในที่ดินพิพาท ผู้จัดการมรดกของ ก. ทายาทของ ม. ผู้ได้รับอนุญาตย่อมจะโอนที่ดินพิพาทตามใบจองไปไม่ได้ เว้นแต่จะตกทอดโดยทางมรดก ตามพระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ มาตรา ๘ วรรคสอง การซื้อขายที่ดินพิพาทตามใบจองระหว่างผู้จัดการมรดกของ ก. กับบริษัท ป. ย่อมเป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายและตกเป็นโมฆะ ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๐ ตามคำฟ้องโจทก์และคำให้การของจำเลยทั้งสามจึงไม่อาจอ้างสิทธิตามใบจองที่ดินพิพาทเพื่อเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินของรัฐได้ แต่โจทก์และจำเลยทั้งสามต่างมีหน้าที่นำสืบพยานหลักฐานว่าฝ่ายใดมีสิทธิในที่ดินพิพาทดีกว่ากัน อันเป็นข้อพิพาทระหว่างเอกชนด้วยกัน ซึ่งมิได้มีทุนทรัพย์ตามราคาที่ดินพิพาททั้งตามคำให้การของจำเลยทั้งสามที่มิได้ให้การปฏิเสธว่าสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องมิใช่ของโจทก์ เท่ากับเป็นการยอมรับว่าจำเลยทั้งสามเข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างตามฟ้องของโจทก์จริง ดังนั้น การกระทำของจำเลยทั้งสามที่เข้าไปรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างของโจทก์ย่อมเป็นการทำละเมิด โจทก์ย่อมมีอำนาจฟ้อง เรียกค่าเสียหายในส่วนนี้จากจำเลยทั้งสามได้ การที่ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้องโจทก์เสียทั้งหมดโดยมิได้วินิจฉัยในเรื่องค่าเสียหาย จึงไม่ได้เป็นการพิพากษาตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อของโจทก์ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๔๒ วรรคหนึ่ง เมื่อคดีนี้ยังไม่มีการสืบพยาน ศาลฎีกาให้ย้อนสำนวนให้ศาลชั้นต้นดำเนินกระบวนพิจารณาสืบพยานโจทก์จำเลยทั้งสามแล้วพิพากษาใหม่ไป ตามรูปคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๓(๒) ประกอบมาตรา ๒๔๗ (เดิม)

เพิ่มเติม
               วัตถุประสงค์ที่ต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมาย หมายถึง การทำนิติกรรมที่มีวัตถุประสงค์ที่กฎหมายบัญญัติห้ามไว้โดยชัดเจน ซึ่งกฎหมายที่บัญญัติห้ามนี้อาจเป็น กฎหมายแพ่ง หรือ กฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นใดก็ได้ ที่สำคัญกฎหมายนั้นต้องบัญญัติห้ามไว้โดยชัดเจน และที่สำคัญคือต้องมีอยู่ขณะทำนิติกรรมนั้น และเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยด้วยเสมอ

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๕๐ การใดมีวัตถุประสงค์เป็นการต้องห้ามชัดแจ้งโดยกฎหมายเป็นการพ้นวิสัยหรือเป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน การนั้นเป็นโมฆะ

อ้างอิง
ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561.