หนังสือรับสภาพหนี้
การกู้ยืมเงิน
ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตร ๑๙๓/๑๔ อายุความย่อมสะดุดหยุดลงในกรณีดังต่อไปนี้
(๑)
ลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้
ชำระหนี้ให้บางส่วน ชำระดอกเบี้ยให้ประกันหรือกระทำการใดๆ
อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยาย ว่ายอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้อง
หมายเหตุ
1.
หนังสือรับสภาพหนี้เป็นหลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือ; จำเลยที่ ๑
ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๐
โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ ๖๐,๐๐๐ บาท
จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย
การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง
เมื่อนับแต่วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๔
ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน ๑๐ ปี จึงไม่ขาดอายุความ(ฎีกาที่ ๗๖๕๖/๒๕๔๘),
หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวมีข้อความชัดแจ้งว่า
จำเลยเป็นหนี้ผู้เสียหายอยู่จริงและจำเลยยอมชำระหนี้ดังกล่าวให้ผู้เสียหายโดยเช็ค
ทั้งจำเลยและผู้เสียหายได้ลงลายมือชื่อไว้
หนังสือดังกล่าวจึงเป็นหลักฐานที่ผู้เสียหายสามารถนำไปฟ้องร้องจำเลยให้รับผิดในทางแพ่งได้โดยตรงและถือเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้(ฎีกาที่
๒๖๘๓/๒๕๔๐),
2.
หลักฐานการกู้ยืมเงินต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์หรือมีข้อความว่าได้รับเงินยืม; เอกสารอันเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินไม่จำเป็นต้องระบุชัดแจ้งว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้โจทก์
แต่เอกสารที่จะเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินจะต้องมีข้อความแสดงให้เห็นว่าจำเลยมีหนี้สินอันจะพึงต้องชำระให้แก่โจทก์
จึงจะนำสืบพยานบุคคลเพื่ออธิบายว่าหนี้ที่ระบุไว้ในเอกสารนั้นเป็นหนี้อันเกิดจากนิติสัมพันธ์ในเรื่องกู้ยืมเงินได้
เอกสารหมาย จ.๑ ที่โจทก์อ้างมีข้อความเพียงว่า "ได้รับเงินจำนวน
๓๐๐,๐๐๐ บาท (สามแสนบาทถ้วน)" ไม่ได้ความว่าโจทก์เป็นผู้จ่ายเงินและจำเลยต้องคืนเงินจำนวนดังกล่าวให้แก่โจทก์
อันมีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์หรือมีหนี้จะต้องชำระแก่โจทก์แต่อย่างใด
เอกสารหมาย จ.๑
จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินที่จะใช้ฟ้องร้องให้บังคับคดีกันได้(ฎีกาที่ ๑๔๗๑๒/๒๕๕๑),
ใบรับเงินตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และ จ.๑๑ เท่านั้น
ที่มีข้อความแสดงชัดว่า จำเลยที่ ๑ โดยจำเลยที่ ๒ ได้รับเงินยืมจากโจทก์ ๘,๐๐๐,๐๐๐ บาทและ ๕,๐๐๐,๐๐๐ บาท ตามลำดับ โดยมีจำเลยที่ ๒ ลงชื่อเป็นผู้รับเงิน
ใบรับเงินตามเอกสารหมาย จ.๑๐ และ จ.๑๑
จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๖๕๓
โจทก์สามารถฟ้องให้บังคับคดีตามใบรับเงินทั้งสองฉบับนี้ได้
ส่วนการรับเงินครั้งอื่นไม่ปรากฏว่ามีเอกสารฉบับใดเลยที่มีข้อความแสดงให้เห็นได้ว่าจำเลยที่
๑
ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือมีข้อความว่าจะใช้คืนอันเป็นสาระสำคัญของหลักฐานเป็นหนังสือที่บ่งชี้ให้เห็นว่าจำเลยที่
๑ ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์
ลำพังหนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนของจำเลยที่ ๑
ที่มีเพียงข้อความระบุถึงจำนวนเงินที่ขอเบิกและวันที่ขอรับเงินตามเอกสารหมาย จ.๑๒
ถึง จ.๒๔ คงรับฟังได้เพียงว่าจำเลยที่ ๒ ได้รับเช็คไปจากโจทก์แล้วเท่านั้น
ยังไม่อาจฟังขยายความออกไปได้ว่าเป็นการรับเช็คที่กู้ยืมเงินจากโจทก์หรือรับเงินที่กู้ยืม
หนังสือขอเบิกค่าใช้จ่ายประจำเดือนตามเอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
ส่วนรายงานที่ ป. มีถึงโจทก์ ก็ปรากฎเพียงข้อความว่า
ขอให้โจทก์พิจารณาจ่ายเงินกู้ยืมให้จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นเอกสารที่ ป.
จัดทำขึ้นเองแต่ฝ่ายเดียว ทั้งไม่ปรากฏลายมือชื่อของจำเลยที่ ๒ ลงไว้เป็นสำคัญ
เอกสารดังกล่าวจึงมิใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินอีกเช่นกัน(ฎีกาที่ ๓๙๒๗/๒๕๕๖),
หลักฐานแห่งการกู้ยืมคือ
มีข้อความระบุว่ามีการรับเงินและจะใช้คืน; แม้ในเอกสารจะไม่มีข้อความว่าจำเลยกู้เงินโจทก์
แต่มีข้อความว่าจำเลยจะจ่ายเงินตามคำสั่งของโจทก์รวม ๒๕,๐๐๐
เหรียญสหรัฐแสดงว่าจำเลยเป็นหนี้โจทก์ในจำนวนเงินดังกล่าว
และจำเลยลงชื่อไว้เอกสารดังกล่าว จึงเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน
การที่โจทก์ฟ้องให้จำเลยชำระเงินแก่โจทก์ตามหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงิน(ฎีกาที่
๓๘๗๑/๒๕๓๖), เอกสารที่จำเลยทำให้โจทก์มีข้อความว่าจำเลยจะนำเงินจำนวน
๕๐,๐๐๐ บาทมาใช้แก่โจทก์ภายในเดือนพฤษภาคม ๒๕๒๖ แสดงว่าจำเลย
เป็นหนี้โจทก์ตามจำนวนที่ระบุไว้ ใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้(ฎีกาที่
๑๕๐๔/๒๕๓๑), จำนวนเงินถือเป็นสาระสำคัญแห่งหลักฐานการกู้ยืมเงิน;
สัญญากู้ยืมเงินที่ไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ให้กู้ยืมไว้นั้นเป็นการสาระสำคัญไม่อาจใช้เป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินได้แม้ในสัญญากู้ยืมเงินดังกล่าวจะมีข้อความว่าผู้กู้ได้นำเช็คเงินสดซึ่งมีการระบุจำนวนเงินเอาไว้ชัดเจนแล้วมอบให้ผู้ให้กู้เพื่อเป็นการค้ำประกันก็ฟังได้แต่เพียงว่าผู้กู้นำเช็คดังกล่าวมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมเงินเท่านั้นไม่อาจฟังว่าผู้กู้ได้กู้ยืมเงินจากผู้ให้กู้ไปตามจำนวนเงินที่ระบุในเช็คได้(ฎีกาที่
๕๒๔๙/๒๕๓๙), ข้อความว่า “โปรดมอบเงิน...”
“ได้รับเงินแล้ว” ไม่ถือว่าเป็นหลักฐานการกู้ยืม;
เอกสารท้ายฟ้องฉบับแรกมีข้อความว่า "โปรดมอบเงินจำนวน๑๕,๐๐๐ บาท (หนึ่งหมื่นห้าพันบาท) ให้กับนาย
นเรศแซ่ทวยผู้ถือบัตรนี้มาด้วยครับ" และอีกฉบับหนึ่งมีข้อความว่า
"ได้รับเงินจากพี่ เล็ก ๑๕,๐๐๐ บาท"
ดังนี้
ข้อความในเอกสารทั้งสองฉบับไม่อาจแปลได้ว่าจำเลยกู้ยืมเงินโจทก์หรือเป็นหนี้โจทก์
จึงไม่ใช่หลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา
๖๕๓วรรคหนึ่ง(ฎีกาที่ ๔๐๘/๒๕๓๒), ข้อความเขียนไว้ด้านหลังของต้นขั้วเช็คเพียงว่า
ได้รับเรียบร้อยแล้วและลงลายมือชื่อจำเลย ส่วนด้านหน้าระบุชื่อจำเลยที่ ๑
และจำนวนเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท ข้อความ ๒
ด้านฟังประกอบกันได้ว่าได้รับเช็คเงิน ๖๐๐,๐๐๐ บาท
ไปเรียบร้อยแล้ว
แต่ไม่อาจฟังขยายความออกไปได้ว่าเป็นการรับเช็คที่กู้ยืมเงินหรือรับเงินที่กู้ยืม
ถือว่าไม่มีหลักฐานแห่งการกู้ยืมเป็นหนังสือต้องห้ามมิให้ฟ้องร้อง(ฎีกาที่
๕๒๓๕/๒๕๔๒)
3.
หลักฐานการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือไม่ต้องปิดอากรแสตมป์; ข้อความในบันทึกข้อตกลงที่ว่าผู้ให้สัญญายอมรับว่าได้เป็นหนี้ต่อผู้รับสัญญาจริงโดยระบุเท้าความให้เห็นว่าหนี้ตามบันทึกข้อตกลงดังกล่าวมีมูลหนี้มาจากการกู้ยืมเงิน
จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้มิใช่สัญญากู้ยืมเงินอันจะเป็นลักษณะแห่งตราสารซึ่งต้องปิดอากรแสตมป์ตามประมวลรัษฎากรฯ(ฎีกาที่
๓๒๙๐/๒๕๔๖),
4.
หนังสือรับสภาพหนี้ต้องกระโดยตัวลูกหนี้เองหรือตัวแทน; การรับสภาพหนี้อันจะเป็นเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลงต้องเป็นกรณีที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้ซึ่งจะต้องกระทำโดยลูกหนี้เองหรือโดยตัวแทนของลูกหนี้เท่านั้น(ฎีกาที่
๔๒๔๙/๒๕๖๓), การรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๙๓/๑๔ วรรคหนึ่งผู้ที่จะรับสภาพหนี้ได้มีเฉพาะตัวลูกหนี้เท่านั้น
การที่จำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นบุคคลภายนอกทำสัญญารับใช้หนี้แทน ซ.
ลูกหนี้ของโจทก์แต่ไม่มีผลบังคับเพราะ น.
คู่สัญญาผู้กระทำการแทนโจทก์กระทำการโดยปราศจากอำนาจ แม้ฟังว่าเป็นกรณีที่จำเลยที่
๑
เป็นผู้แสดงเจตนาฝ่ายเดียวผูกพันตนเข้ารับชำระหนี้แก่โจทก์แทนลูกหนี้ของโจทก์อันเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียว
ก็ไม่มีลักษณะของลูกหนี้รับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ตามบทกฎหมายดังกล่าว
ไม่มีผลบังคับตามกฎหมาย จำเลยที่ ๒ ถึงที่ ๔ ผู้ค้ำประกันตามสัญญารับใช้หนี้ของจำเลยที่
๑ ไม่ต้องรับผิดต่อโจทก์ด้วย(ฎีกาที่ ๕๔๑๙/๒๕๔๐), ถ้าไม่ใช่ลูกหนี้ทำหนังสือรับสภาพหนี้อาจเป็นสัญญาประเภทหนึ่งได้;
การรับสภาพหนี้เป็นการที่ลูกหนี้รับสภาพต่อเจ้าหนี้ว่าจะชำระหนี้ให้แต่ในสัญญาผ่อนชำระหนี้ที่พิพาท
จำเลยที่ ๑และที่ ๒ เป็นบุคคลภายนอกมิได้เป็นลูกหนี้ผูกพันตนเข้าชำระหนี้ให้โจทก์
จึงไม่เป็นการรับสภาพหนี้ แต่จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ เป็นตัวแทนจำหน่ายช่วงโดยรับซื้อสุราจาก
ร.อีกทอดหนึ่ง ในการทำสัญญาผ่อนชำระหนี้ที่พิพาทที่ระบุว่าจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์จำนวน ๑๒,๓๑๐,๕๗๕ บาท
และตกลงผ่อนชำระหนี้อันเนื่องมาจากโจทก์ประสงค์จะดำเนินคดีอาญาแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง
แต่ได้ทำการเจรจาประนีประนอมยอมความกันโดยจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ซึ่งมิใช่ลูกหนี้ของโจทก์ได้ยอมรับว่าได้เป็นหนี้ค่าซื้อสุราจากโจทก์เป็นเงินจำนวนดังกล่าวสัญญาผ่อนชำระหนี้ที่พิพาทจึงมิใช่การรับสภาพหนี้
แต่เป็นสัญญาประเภทหนึ่งซึ่งคู่สัญญากระทำด้วยความสมัครใจเมื่อไม่ขัดต่อกฎหมาย
ย่อมสมบูรณ์ใช้บังคับได้ และหนี้ตามสัญญานี้ไม่มีกฎหมายบัญญัติอายุความไว้โดยเฉพาะ
ก็ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๔ เดิมหาใช่มีอายุความ ๒ ปี ตามมูลหนี้บุคคลผู้เป็นพ่อค้าเรียกเอาค่าที่ได้ส่งมอบของอันเป็นมูลหนี้เดิมไม่(ฎีกาที่
๓๑๗๙/๒๕๔๐), เจ้าหนี้มิได้ลงลายมือชื่อด้วยก็มีผลสมบูรณ์;
การทำหนังสือรับสภาพหนี้ก็มิใช่การทำสัญญาหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่ลูกหนี้ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้เจ้าหนี้จริง
ส่วนเจ้าหนี้หาจำต้องเป็นคู่สัญญาด้วยไม่
เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้เป็นหนังสือที่จำเลยที่ ๒
ทำขึ้นโดยยอมรับว่าตนเป็นหนี้กู้ยืมเงิน ส. เจ้ามรดก แม้โจทก์ที่ ๑
ในฐานะผู้จัดการมรดกของ ส. จะมิได้ลงชื่อด้วยหรือลงชื่อแต่เพียงผู้เดียว หนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวก็มีผลสมบูรณ์ตามกฎหมายและใช้บังคับแก่จำเลยที่
๒ ผู้ยอมรับสภาพหนี้ได้(ฎีกาที่ ๑๑๒๘/๒๕๕๑),
5.
ลักษณะของหนังสือรับสภาพหนี้; การรับสภาพหนี้ของลูกหนี้ต่อเจ้าหนี้โดยทำเป็นหนังสือตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๔(๑) นั้น ต้องมีข้อความแสดงเจตนาของลูกหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้
โดยที่เจ้าหนี้มีสิทธิเรียกร้องและลูกหนี้ยอมรับในสิทธิเรียกร้องของเจ้าหนี้นั้นแล้วจะชำระหนี้ให้
แต่หนังสือรับสภาพหนี้ที่โจทก์นำมาฟ้องมีเพียงข้อความระบุจำนวนเดือน วันเดือนปี
ดอกเบี้ย ต้นทุนหรือต้นเงิน
และคำว่ารวมและมีลายมือชื่อของจำเลยลงไว้ในตอนท้ายเท่านั้น
ไม่มีข้อความระบุว่าใครเป็นหนี้อะไรแก่ผู้ใด
และตกลงจะชำระหนี้ให้แก่ผู้นั้นหรือไม่อย่างไร จึงยังไม่พอฟังว่าเป็นหนังสือรับสภาพหนี้(ฎีกาที่
๖๔๕๙/๒๕๔๕), รายงานการประชุม; เมื่อพิจารณาเนื้อหาตามสำเนารายงานการประชุมใหญ่วิสามัญดังกล่าวได้ความชัดแจ้งว่า
จำเลยแถลงยอมรับต่อที่ประชุมว่าจำเลยยืมเงินโจทก์ไปจำนวนดังกล่าวจริง
และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ดังกล่าวให้แก่โจทก์ภายใน ๑ เดือน โดยจำเลยหาได้โต้แย้งหรือกล่าวอ้างว่าเงินจำนวนดังกล่าวเป็นเงินสำรองจ่ายที่จำเลยนำไปใช้ในกิจการของโจทก์ไม่
ประกอบกับจำเลยลงลายมือชื่อยอมรับความถูกต้องของสำเนารายงานการประชุมใหญ่โดยไม่ได้อิดเอื้อน
ข้อเท็จจริงจึงฟังได้ว่าจำเลยยอมรับว่าจำเลยเป็นหนี้เงินกู้ยืมแก่โจทก์และจำเลยตกลงจะชำระหนี้ให้แก่โจทก์
พฤติการณ์ของจำเลยเช่นนี้เป็นลักษณะของการรับสภาพหนี้ต่อโจทก์ผู้เป็นเจ้าหนี้
หรือเป็นการกระทำใด ๆ
อันปราศจากข้อสงสัยแสดงให้เห็นเป็นปริยายว่าจำเลยยอมรับสภาพหนี้ตามสิทธิเรียกร้องของโจทก์
ตามหลักเกณฑ์แห่ง ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๑)
สำเนารายงานการประชุมใหญ่ดังกล่าวจึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตามกฎหมาย(ฎีกาที่
๒๓๔๐/๒๕๖๒), สัญญาปรับปรุงโครงสร้างหนี้;
สิทธิเรียกร้องตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีและสัญญากู้เงิน
กฎหมายมิได้กำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีกำหนดสิบปีตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐
ถึงแม้ผู้ร้องมิได้นำสืบว่าการผิดนัดชำระหนี้เกิดขึ้นเมื่อใด การที่ลูกหนี้ที่ ๑
ขอลดวงเงิน แสดงว่าสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างลูกหนี้ที่ ๑
กับเจ้าหนี้ยังมิได้เลิกกัน เจ้าหนี้เดิมย่อมจะเรียกให้ชำระหนี้ได้โดยพลันตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๒๐๓
อายุความให้เริ่มนับแต่ขณะที่อาจบังคับสิทธิเรียกร้องคือนับแต่วันที่ ๗ เมษายน
๒๕๔๓ และวันที่ ๒๘ ธันวาคม ๒๕๔๒ ตามลำดับ เมื่อต่อมาวันที่ ๒๓ ธันวาคม ๒๕๕๒
ลูกหนี้ที่ ๑ ทำสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ โดยยอมรับสภาพหนี้ว่า เพียง ณ วันที่ ๓๑
มีนาคม ๒๕๔๘ ลูกหนี้ที่ ๑ เป็นหนี้ผู้ร้อง ๒๖๘,๑๕๗,๐๓๖.๔๓ บาท ถือว่าลูกหนี้ที่ ๑
ในฐานะลูกหนี้ชั้นต้นรับสภาพหนี้ต่อผู้ร้องตามสิทธิเรียกร้องโดยทำเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ให้
ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ ๑ ย่อมเป็นโทษแก่ลูกหนี้ที่ ๓
ผู้ค้ำประกันด้วยตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๙๒ และมาตรา ๑๙๓/๑๔ ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
ต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๔ ธันวาคม ๒๕๕๒
ผู้ร้องนำสิทธิเรียกร้องมายื่นคำร้องขอคดีนี้วันที่ ๘ มิถุนายน ๒๕๕๓
คดีของผู้ร้องไม่ขาดอายุความ(ฎีกาที่ ๑๐๐๙๕/๒๕๕๘), รายการประจำวันเกี่ยวกับคดี;
ระบุข้อความว่า จำเลยที่ ๑
ยอมรับว่าได้กู้เงินโจทก์เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๔๕ จำนวน ๒๖๐,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑ ชำระให้โจทก์แล้ว ๕๐,๐๐๐ บาท
เป็นต้นเงิน ๔๐,๐๐๐ บาท ดอกเบี้ย ๑๐,๐๐๐
บาท ส่วนเงินที่ค้างชำระ ๒๒๕,๐๐๐ บาท จำเลยที่ ๑
จะชำระให้โจทก์หลังจากนำที่ดินไปจำนองกับธนาคารแล้ว
ข้อความดังกล่าวมีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ มิใช่เป็นข้อตกลงระหว่างโจทก์กับจำเลยที่
๑
ที่จะระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
จึงไม่เป็นการประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐(ฎีกาที่ ๒๒๓๖/๒๕๕๓), หนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยที่ ๑ ทำกับ ส. ระบุว่า จำเลยที่ ๑
ได้ถอนเงินจากบัญชีเงินฝากของ ส. แล้วยักยอกเงินดังกล่าวไป
จึงตกลงคืนเงินที่ยักยอกไปให้แก่ ส. นั้น เป็นเพียงหนังสือที่จำเลยที่ ๑
รับว่าเป็นหนี้ ส. และยอมชำระหนี้แก่ ส. ไม่มีข้อความที่จำเลยที่ ๑ กับ ส.
ตกลงระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
จึงมิใช่สัญญาประนีประนอมยอมความ อันจะทำให้หนี้จากมูลละเมิดระงับสิ้นไป(ฎีกาที่
๒๙๑/๒๕๔๗), การที่จำเลยได้จัดทำหนังสือภาษาจีนซึ่งมีคำแปลเป็นภาษาไทยอันมีเนื้อหาว่า
"จำเลยจะชำระค่าเสียหายของสินค้าจำนวน ๒๕,๓๘๙ ชุด เป็นเงิน ๑๑๖,๗๘๙.๔๐ ดอลลาร์สหรัฐ
ผ่อนชำระเดือนเมษายน ๒๕๓๖ แล้วเป็นเงิน ๑๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
เดือนกันยายนชำระ ๓๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ
เงินจำนวนที่เหลือจะแบ่งชำระในเดือนเมษายนและเดือนกันยายน ๒๕๓๗" เป็นการจัดทำเอกสารดังกล่าวขึ้นด้วยความสมัครใจ
แม้จะไม่ปรากฏว่าได้มีการทำหนังสือกันใหม่อย่างเป็นทางการก็ตาม
หนังสือภาษาจีนดังกล่าวก็เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ที่มีผลผูกพันใช้บังคับจำเลยได้ตามกฎหมาย(ฎีกาที่
๘๘๘๔/๒๕๔๓),
6.
การรับสภาพหนี้จะต้องมีมูลหนี้อยู่จริง; จำเลยมิได้กระทำละเมิดต่อโจทก์ในการที่ไฟไหม้อาคารและทรัพย์สินของโจทก์เสียหาย
จึงไม่ก่อให้เกิดหนี้ที่จำเลยต้องรับผิดต่อโจทก์
แม้จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ก็หามีผลให้จำเลยต้องรับผิดตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวไม่เพราะเป็นการรับสภาพหนี้โดยปราศจากมูลหนี้ที่จะให้รับสภาพหนี้จึงไม่มีผลบังคับแก่กันได้(ฎีกาที่
๖๗๖๐/๒๕๓๙),
7.
แปลงหนี้ใหม่ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้; การที่จำเลยที่
๒ ผู้ค้ำประกันยอมรับผิดใช้หนี้ที่ ป.
มีต่อโจทก์ด้วยการทำหนังสือรับสภาพหนี้และสัญญากู้เงินขึ้นใหม่
ทั้งสัญญากู้เงินฉบับใหม่และหนังสือรับสภาพหนี้ระบุจำนวนหนี้ใหม่โดยรวมต้นเงินกู้เดิมและดอกเบี้ยเข้าด้วยกัน
ย่อมเห็นถึงเจตนาของโจทก์และจำเลยที่ ๒ ว่า
ต้องการจะทำให้หนี้ตามสัญญากู้เงินเดิมระงับไปโดยการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้
การแปลงหนี้ดังกล่าวโจทก์และจำเลยที่ ๒ จะทำสัญญากันโดยลำพัง ไม่ต้องให้ ป.
ลูกหนี้คนเดิมเข้าเกี่ยวข้องด้วยก็ได้
เพราะการแปลงหนี้ใหม่ด้วยการเปลี่ยนตัวลูกหนี้ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๕๐
ห้ามแต่เพียงว่าจะทำโดยขืนใจลูกหนี้เดิมไม่ได้เท่านั้น เมื่อ ป.
กู้เงินเพื่อให้จำเลยที่ ๒ นำไปลงทุน กรณีจะทำโดยขืนใจ ป. ลูกหนี้เดิมย่อมไม่มี
เมื่อหนี้ตามสัญญากู้เงินระงับไปแล้ว จำเลยที่ ๒
ผู้ค้ำประกันย่อมหลุดพ้นจากความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๖๙๘(ฎีกาที่ ๓๘๓๓/๒๕๕๒),
8.
แม้จะใช้คำว่า หนังสือรับสภาพหนี้
ก็อาจเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความก็ได้; หนังสือที่จำเลยทำไว้แก่โจทก์
แม้จะใช้คำว่า "หนังสือรับสภาพหนี้" แต่เมื่อข้อกำหนดและเหตุผลในการจัดทำเป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยต่างตกลงระงับข้อพิพาทซึ่งเกิดจากหนังสือรับสภาพหนี้ให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
จึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความตาม ป.พ.พ. มาตรา ๘๕๐
ซึ่งเมื่อจำเลยปฏิบัติการชำระหนี้ครั้งสุดท้ายเมื่อวันที่ ๓ กันยายน ๒๕๔๐
อายุความที่โจทก์จะต้องบังคับใช้สิทธิเรียกร้องจึงมีกำหนดสิบปีนับแต่วันดังกล่าวตามมาตรา
๑๙๓/๓๒(ฎีกาที่ ๗๙๑๙/๒๕๕๑), จำเลยที่ ๑
ทำสัญญาเช่าซื้อรถยนต์ไปจากโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วม ต่อมาจำเลยที่ ๑ ผิดสัญญาเช่าซื้อ
โจทก์บอกเลิกสัญญาและยึดรถยนต์คืนออกประมูลขายได้เงินน้อยกว่าข้อตกลงตามสัญญาเช่าซื้อ
โจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒ จึงได้ทำบันทึกข้อตกลงชำระค่าเสียหายดังกล่าว จำนวน
๒๘๔,๐๐๗ บาท โดยีการลดค่าเสียหายเหลือเพียง ๑๗๐,๐๐๐ บาท
และกำหนดจำนวนเงินที่จะต้องผ่อนชำระและระยะเวลาชำระเสร็จรวมทั้งกำหนดอัตราดอกเบี้ยขึ้นใหม่แตกต่างกับข้อตกลงและจำนวนค่าเสียหายตามสัญญาเช่าซื้อเดิม
ข้อตกลงดังกล่าวเป็นกรณีที่โจทก์กับจำเลยที่ ๑ และที่ ๒
ระงับข้อพิพาทที่มีอยู่ตามสัญญาเช่าซื้อให้เสร็จสิ้นไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
บันทึกข้อตกลงดังกล่าวจึงเป็นสัญญาประนีประนอมยอมความ มิใช่หนังสือรับสภาพหนี้ มีผลให้หนี้เดิมตามสัญญาเช่าซื้อระงับไปและก่อให้เกิดหนี้ใหม่ตามสัญญาประนีประนอมยอมความดังกล่าว(ฎีกาที่
๑๔๒/๒๕๔๙),
9.
ข้อความผิดนัดต้องระบุว่า “หากผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมด”
จึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที; หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ได้มีข้อตกลงว่า
หากจำเลยทั้งสองผิดนัดงวดหนึ่งงวดใดถือว่าผิดนัดทั้งหมดหรือหนี้ทั้งหมดนั้นถึงกำหนดชำระอันจะทำให้โจทก์มีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยทั้งสองชำระหนี้ทั้งหมดคืนได้ทันที
ข้อความที่ระบุไว้ในหนังสือรับสภาพหนี้ว่า หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งยินยอมให้ฟ้องร้องบังคับคดีได้ทันที
หมายถึงสิทธิเรียกร้องของโจทก์จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อจำเลยทั้งสองผิดนัดในงวดนั้นๆ
แล้วเท่านั้น
ส่วนงวดที่ยังไม่ถึงกำหนดชำระโจทก์ก็ยังไม่มีสิทธิเรียกร้องเอาแก่จำเลยทั้งสอง(ฎีกาที่
๒๓๑๖/๒๕๕๐),
10. หนังสือรับสภาพหนี้ไม่ทำให้สัญญาค้ำประกันในมูลหนี้เดิมระงับ; หนังสือสัญญารับสภาพหนี้ที่จำเลยที่
๑
ซึ่งเป็นลูกหนี้ทำให้ไว้แก่โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้เป็นเพียงการยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์และจะชำระหนี้
มิได้เป็นการยกเลิกหลักประกันหรือการค้ำประกัน
หรือเป็นการแปลงหนี้ใหม่อันจะมีผลให้หนี้เดิมระงับไป เมื่อจำเลยที่ ๒ เป็นผู้ค้ำประกันยอมรับผิดอย่างลูกหนี้ร่วมในหนี้ของจำเลยที่
๑ จึงยังคงต้องรับผิดต่อโจทก์ตามสัญญาค้ำประกัน(ฎีกาที่ ๓๙๓/๒๕๕๐), จำเลยที่ ๔ เป็นผู้ค้ำประกันจำเลยที่ ๑
โดยอาวัลตั๋วสัญญาใช้เงินและค้ำประกันจำเลยที่ ๑ ที่ได้กู้ยืมเงินจากโจทก์
ต่อมาจำเลยที่ ๑ ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์โดยมีจำเลยที่ ๒ และที่ ๓
เป็นผู้ค้ำประกัน เมื่อการทำหนังสือรับสภาพหนี้ระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ ตามสิทธิเรียกร้องเป็นเพียงเหตุให้อายุความสะดุดหยุดลง
ตาม ป.พ.พ.มาตรา ๑๙๓/๑๔ หาใช่เป็นเรื่องที่โจทก์กับจำเลยที่
๑ทำสัญญาเปลี่ยนสิ่งซึ่งเป็นสาระสำคัญแห่งหนี้อันจะทำให้หนี้เดิมระงับสิ้นไปด้วยการแปลงหนี้ใหม่
ดังนี้ จำเลยที่ ๔ จึงยังต้องผูกพันในฐานะตามสัญญาค้ำประกันที่ตนทำไว้กับโจทก์(ฎีกาที่
๖๑๕๓/๒๕๔๐),
11. ข้อต่อสู้ของลูกหนี้
คือไม่มีมูลหนี้อยู่จริง และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ; ผู้ร้องสอดมีสิทธิยกข้อต่อสู้ว่าหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีมูลหนี้อยู่จริง
และเป็นมูลหนี้ที่ขาดอายุความ
ทั้งจําเลยหลุดพ้นจากมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าว
เนื่องจากโจทก์ไม่มีคําขอรับชําระหนี้ในคดีที่จําเลยขอฟื้นฟูกิจการขึ้นต่อสู้ได้(ฎีกาที่
๔๓๑๓/๒๕๖๕), ข้อสังเกต; โจทก์ยอมรับว่าได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้ไว้แก่จำเลยจริงและยินยอมชดใช้หนี้นั้น
หนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้จึงเป็นหนี้ที่ไม่มีข้อต่อสู้แล้ว
เมื่อค่าจ้างที่โจทก์มีสิทธิได้รับจากจำเลยมีจำนวนน้อยกว่าค่าเสียหายตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยจึงมีสิทธินำค่าจ้างที่ต้องชำระแก่โจทก์มาหักกับหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ที่จำเลยเป็นเจ้าหนี้โจทก์ได้(ฎีกาที่
๑๖๘๐๒/๒๕๕๕),
12. การนำสืบของเจ้าหนี้; โจทก์บรรยายฟ้องว่า
จำเลยกู้ยืมเงินโจทก์โดยทำหลักฐานเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ไว้
เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ จำเลยไม่ชำระหนี้คืนให้แก่โจทก์
โจทก์ทวงถามแล้วจำเลยเพิกเฉย แต่โจทก์กลับนำสืบว่า
จำเลยทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างตลาดสดและตึกแถวและชักชวนให้โจทก์ร่วมลงทุน
โจทก์จึงนำเงินไปร่วมลงทุนกับจำเลย
หลังจากนั้นจำเลยไม่คืนเงินลงทุนและไม่แบ่งผลกำไรให้โจทก์ โจทก์จึงทวงถามและต่อมาโจทก์จึงได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ไปให้จำเลยลงลายมือชื่อเพื่อเป็นหลักฐานว่าจำเลยได้กู้ยืมเงินของโจทก์ไป
แต่เมื่อครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยเพิกเฉยไม่ชำระเงินคืนโจทก์
ดังนั้น การนำสืบในประเด็นดังกล่าวเป็นที่เห็นว่าได้ชัดแจ้งว่าโจทก์นำสืบไม่สมสภาพแห่งข้อหา
ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาตามคำฟ้องของโจทก์
และเป็นการนำสืบนอกฟ้องนอกประเด็นซึ่งต้องห้ามมิให้ศาลรับฟังตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๘๗
(๑) ศาลฎีกาจึงไม่อาจวินิจฉัยประเด็นดังกล่าวและพิพากษาให้โจทก์ชนะคดีตาม ป.วิ.พ.
มาตรา ๑๔๒(ฎีกาที่ ๕๐๔๔/๒๕๔๙), ต้องระบุบัญชีพยาน;
โจทก์มิได้ยื่นบัญชีระบุพยานและมิได้ส่งสำเนาของหนังสือรับสภาพหนี้ตาม
ป.วิ.พ. มาตรา ๘๘ และ ๙๐ ซึ่งศาลมีอำนาจรับฟังได้ตามมาตรา ๘๗
แต่ข้อเท็จจริงที่โจทก์มิได้อ้างส่งในขณะสืบพยานโจทก์
กลับนำมาอ้างส่งในขณะถามค้านพยานจำเลยทั้งสองปากสุดท้ายหลังจากสืบพยานโจทก์เสร็จสิ้นแล้ว
ทั้ง ๆ ที่เอกสารดังกล่าวอยู่ที่โจทก์
เป็นการเอาเปรียบกันในเชิงคดีไม่ให้จำเลยมีโอกาสต่อสู้คดีเกี่ยวกับเอกสารดังกล่าว
ฉะนั้น
เพื่อประโยชน์แห่งความยุติธรรมจึงไม่สมควรรับฟังหนังสือรับสภาพหนี้ดังกล่าวเป็นพยาน(ฎีกาที่
๔๘๘๒/๒๕๔๓),
13. การพิจารณาอายุความตามหนังสือรับสภาพหนี้; จำเลยที่ ๒
ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ให้แก่โจทก์ไว้เมื่อวันที่ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๔
อายุความจึงสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๑)
เมื่อการรับสภาพหนี้ดังกล่าวเกิดจากสิทธิเรียกร้องตามสัญญาจ้างแรงงานซึ่งมิได้กำหนดอายุความไว้เป็นการเฉพาะ
จึงมีอายุความ ๑๐ ปี ตามมาตรา ๑๙๓/๓๐ และต้องเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑๕
มกราคม ๒๕๔๔ คิดถึงวันฟ้องยังไม่เกินสิบปี คดีโจทก์ในส่วนของจำเลยที่ ๒
ไม่ขาดอายุความ(ฎีกาที่ ๔๘๓๔/๒๕๔๘),
14. อายุความ ๑๐ ปี; หนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง
โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์ได้ภายในกำหนด ๑๐ ปี
นับตั้งแต่วันที่ ๑ พฤษภาคม ๒๕๕๗ ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๕ และมาตรา ๑๙๓/๓๐ โจทก์ฟ้องคดีเมื่อวันที่
๒๔ มีนาคม ๒๕๖๓ ภายในกำหนด ๑๐ ปี ดังกล่าว ฟ้องโจทก์จึงไม่ขาดอายุความ(ฎีกาที่ ๔๕๕๗/๒๕๖๖), หนี้เดิมระหว่างโจทก์กับ ส.
เป็นหนี้เงินกู้มีอายุความ ๑๐ ปี
ขณะที่ทำหนังสือสัญญาค้ำประกันยินยอมรับสภาพหนี้นั้น ยังไม่หมดอายุความ ดังนั้น
จะนำอายุความ ๒ ปี เรื่องการรับสภาพความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๕
มาใช้บังคับไม่ได้(ฎีกาที่ ๔๖๔๐/๒๕๕๑), จำเลยที่ ๑
ทำหนังสือรับสภาพหนี้กับโจทก์เมื่อวันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๐
โดยรับว่าเป็นหนี้กู้ยืมเงินโจทก์ ๖๐,๐๐๐ บาท
จึงมีผลเป็นหลักฐานแห่งการกู้ยืมเงินเป็นหนังสือและเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ด้วย
การกู้ยืมเงินไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะ จึงมีอายุความ ๑๐ ปี
ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๐
ส่วนหนังสือรับสภาพหนี้ไม่มีอายุความในตัวเองเพียงแต่มีผลทำให้อายุความในมูลหนี้เดิมสะดุดหยุดลง
เมื่อนับแต่วันที่ ๑๓ พฤษภาคม ๒๕๔๐ ถึงวันที่ ๒๔ ตุลาคม ๒๕๔๔
ซึ่งเป็นวันที่โจทก์ฟ้องคดียังไม่เกิน ๑๐ ปี จึงไม่ขาดอายุความ(ฎีกาที่ ๗๖๕๖/๒๕๔๘),
15. อายุความ ๕
ปี
ถ้าหนังสือรับสภาพหนี้กำหนดวิธีการชำระหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
มีกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาจ่ายที่แน่นอน; จำเลยทำหนังสือรับสภาพหนี้ยอมรับว่าเป็นหนี้โจทก์
โดยจะชำระหนี้ให้โจทก์เป็นสองงวด งวดที่ ๑ ชำระภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๑ งวดที่
๒ ชำระภายในวันที่ ๓๑ พฤษภาคม ๒๕๔๒
หากผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งถือว่าผิดนัดทั้งหมดยอมให้โจทก์ฟ้องร้องดำเนินคดีได้ทันที
ถือได้ว่าโจทก์และจำเลยตกลงกำหนดวิธีการชำระหนี้เงินที่ต้องชำระเพื่อผ่อนทุนคืนเป็นงวดๆ
มีกำหนดจำนวนเงินและระยะเวลาจ่ายที่แน่นอน
สิทธิเรียกร้องของโจทก์จึงมีกำหนดอายุความ ๕ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๓ (๒)
เมื่อปรากฏว่าหลังจากทำหนังสือรับสภาพหนี้แล้วจำเลยผิดนัดไม่ชำระหนี้ให้โจทก์ตั้งแต่งวดแรก
โจทก์จึงมีสิทธิเรียกร้องให้จำเลยชำระได้ทั้งหมด อายุความเริ่มนับแต่วันที่ ๑
มิถุนายน ๒๕๔๑ ซึ่งเป็นวันที่โจทก์อาจบังคับสิทธิเรียกร้องได้เป็นต้นไปตาม ป.พ.พ.
มาตรา ๑๙๓/๑๒ แต่โจทก์ฟ้องจำเลยเป็นคดีนี้เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน ๒๕๔๙
จึงพ้นกำหนดอายุความ ๕ ปี คดีโจทก์จึงขาดอายุความแล้ว(ฎีกาที่ ๑๖๙๒/๒๕๕๑),
16. อายุความสะดุดหยุดลงหลายครั้งได้; โจทก์จำเลยทำสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินโฉนดเลขที่
๑๕๖๕๘ และตกลงซื้อที่ดินพิพาทซึ่งเป็นถนนที่อยู่ติดกับที่ดินดังกล่าวเมื่อวันที่
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ต่อมาวันที่ ๑๙ ธันวาคม ๒๕๒๑
จำเลยได้จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินโฉนดเลขที่ ๑๕๖๕๘
ให้โจทก์ตามสัญญาจะซื้อจะขายที่ดินอันเป็นการชำระหนี้ให้แก่โจทก์บางส่วน
ถือเป็นการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๑) อายุความย่อมสะดุดหยุดลง
ระยะเวลาทีล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความและเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่เหตุที่ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงสิ้นสุดตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๕ สัญญาจะซื้อจะขายไม่มีกฎหมายกำหนดอายุความไว้โดยเฉพาะจึงมีอายุความ
๑๐ ปี ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๐ และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ ๒๐ ธันวาคม
๒๕๒๑ ในวันที่ ๒๗ ตุลาคม ๒๕๓๐ จำเลยทำหนังสือว่าได้รับเงินจำนวน ๕๐,๐๐๐ บาท จากโจทก์เป็นค่าที่ดินส่วนที่เป็นถนนตามสัญญาจะซื้อจะขายลงวันที่
๒๐ พฤษภาคม ๒๕๑๙ ส่วนที่เหลือจะชำระให้ในวันที่ไปทำสัญญาโอนกรรมสิทธิ์
ข้อความในหนังสือดังกล่าวบ่งชี้ว่าจำเลยรับว่ายังมีหนี้ต้องโอนกรรมสิทธิ์ในที่ดินส่วนที่เป็นถนนให้แก่โจทก์อยู่อีก
จึงเป็นหนังสือรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๔ (๑)
ทำให้อายุความสะดุดหยุดลงอีกครั้งหนึ่ง
ระยะเวลาที่ล่วงไปก่อนนั้นไม่นับเข้าในอายุความ
และเริ่มนับอายุความใหม่ตั้งแต่วันที่ ๑๘ ตุลาคม ๒๕๓๐ เป็นต้นไป ซึ่งนับถึงวันที่
๒๒ ตุลาคม ๒๕๔๐ ที่โจทก์ฟ้องคดีนี้ยังไม่เกิน ๑๐ ปี
คดีโจทก์จึงยังไม่ขาดอายุความ(ฎีกาที่ ๒๐๕๘/๒๕๔๙),
17. ถ้าไม่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพหนี้
อายุความไม่สะดุดหยุดลง; การรับสภาพหนี้ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๙๓/๑๔(๑) ลูกหนี้จะต้องมีเจตนาใช้หนี้นั้นต่อเจ้าหนี้โดยไม่มีข้อโต้แย้งใด
ๆ แต่ตามรายงานประจำวันซึ่งโจทก์และจำเลยที่ ๑
ให้ถ้อยคำไว้ที่สถานีตำรวจระบุว่าได้ชำระค่าจ้างงวดที่ ๑ ให้แล้ว ยังคงค้างงวดที่
๒ แต่จำเลยที่ ๑ อ้างว่า ได้ตกลงกับจำเลยที่ ๒ ว่าการจ่ายเงินค่าจ้างแต่ละงวด
จำเลยทั้งสองจะต้องชำระคนละครึ่ง ซึ่งจำเลยที่ ๑ ได้ชำระงวดที่ ๑ และงวดที่ ๒
ให้โจทก์แล้ว ส่วนจำเลยที่ ๒ ยังไม่ได้ชำระทั้งสองงวด
การที่โจทก์เรียกร้องให้จำเลยที่ ๑ ชำระเงินงวดที่ ๒ อีก จำเลยที่ ๑ ขอปฏิเสธ
จึงเป็นการยอมรับเพียงว่าจำเลยที่ ๑ ได้ว่าจ้างโจทก์ก่อสร้างอาคาร แต่จำเลยที่ ๑
ปฏิเสธการชำระเงินค่าจ้างงวดที่ ๒ เอกสารดังกล่าวจึงไม่เป็นหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่ทำให้อายุความค่าจ้างงวดที่ ๒ สะดุดหยุดลง(ฎีกาที่ ๖๔๐๔/๒๕๔๔),
18. การบรรยายฟ้อง; คำฟ้องของโจทก์ได้บรรยายสภาพแห่งข้อหาคือจำเลยทั้งสามไม่ชำระหนี้ที่ค้างชำระตามสัญญาขายลดเช็คและกู้เงินอันเป็นมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้ สัญญาค้ำประกันและจำนอง
และคำขอบังคับคือให้จำเลยทั้งสามร่วมกันชำระหนี้ให้แก่โจทก์ ข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้นคือ หนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ หนังสือสัญญาค้ำประกัน
และหนังสือสัญญาจำนอง ส่วนการขายลดเช็คกี่ครั้ง กู้เงินกี่ครั้ง ครั้งละเท่าใดนั้น
เป็นรายละเอียดของมูลหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้และตกลงชำระหนี้ซึ่งโจทก์สามารถนำสืบในชั้นพิจารณาได้
ดังนั้น ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม(ฎีกาที่ ๖๑๘๗/๒๕๓๙),
19. เขตอำนาจศาล; การรับสภาพหนี้โดยการทำเป็นหนังสือเป็นนิติกรรมฝ่ายเดียวที่ลูกหนี้กระทำได้เองโดยสมบูรณ์
เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่าจำเลยที่ ๒
ลงลายมือชื่อในหนังสือรับสภาพหนี้ที่จังหวัดพัทลุง หนังสือรับสภาพหนี้ก็มีผลโดยสมบูรณ์ทันที
ศาลแขวงดุสิตจึงไม่ใช่ศาลที่มีเขตอำนาจ
ศาลแขวงดุสิตจึงชอบที่จะพิพากษายกฟ้องเพื่อให้โจทก์นำคดีไปฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจต่อไป(ฎีกาที่
๓๑๐๐/๒๕๕๑), โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเป็นสมาชิกบัตรเครดิตของโจทก์ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้อันเนื่องมาจากการใช้บัตรเครดิตต่อโจทก์
ซึ่งจำเลยผ่อนชำระหนี้ดังกล่าวแก่โจทก์บางส่วนแล้วผิดนัดไม่ชำระ
ขอให้บังคับจำเลยชำระเงิน ดังนี้ แม้ตามสำเนาใบสมัครสมาชิกบัตรเครดิตระบุว่า
สถานที่รับบัตรและส่งใบเรียกเก็บเงินคือบ้านจำเลยซึ่งอยู่อำเภอบ้านโป่ง
จังหวัดราชบุรี ซึ่งเป็นสถานที่มูลคดีเกิด แต่ในคดีแต่ละคดี
มูลคดีอาจเกิดขึ้นได้หลายแห่ง
หลังจากจำเลยผิดสัญญาใช้บัตรเครดิตเป็นหนี้จำนวนหนึ่ง
โจทก์จำเลยได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้ซึ่งแม้ว่าไม่ลบล้างหนี้เดิมหรือเกิดหนี้ใหม่
แต่หนังสือรับสภาพหนี้เป็นนิติกรรมอันชอบด้วยกฎหมายมีผลผูกพันคู่สัญญา
จึงถือได้ว่าสถานที่ทำหนังสือรับสภาพหนี้เป็นสถานที่เกิดมูลคดีอีกแห่งหนึ่ง
เมื่อหนังสือรับสภาพหนี้ทำที่สำนักงานใหญ่ของธนาคารโจทก์ซึ่งอยู่ในเขตอำนาจศาลชั้นต้น
(ศาลแขวงพระโขนง)
อีกทั้งโจทก์ฟ้องขอบังคับตามหนังสือรับสภาพหนี้และแนบสำเนาหนังสือมาท้ายฟ้องอันเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง
การที่โจทก์ยื่นฟ้องต่อศาลชั้นต้น (ศาลแขวงพระโขนง) จึงชอบด้วย ป.วิ.พ. มาตรา ๔
(๑)(ฎีกาที่ ๖๕๐๙/๒๕๔๗),
20. การับสภาพความรับผิดตามมาตรา ๑๙๓/๓๕
มีกำหนดอายุความ ๒ ปี; สิทธิเรียกร้องตามความหมายของ ป.พ.พ.
มาตรา ๑๙๓/๓๕ ต้องเป็นกรณีลูกหนี้เป็นหนี้เจ้าหนี้อยู่ก่อนแล้ว
ต่อมาหนี้ขาดอายุความ
ภายหลังจากนั้นลูกหนี้จึงได้รับสภาพความรับผิดโดยมีหลักฐานเป็นหนังสือ
เมื่อหนี้ตามฟ้องเป็นหนี้ซึ่งมีอายุความ ๑๐ ปี โดยขณะที่จำเลยที่ ๑ ยอมรับสภาพหนี้ต่อโจทก์เป็นหนังสือนั้นยังไม่ขาดอายุความจึงไม่เข้าลักษณะตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๓๕ ซึ่งมีอายุความ ๒ ปี แต่ต้องใช้อายุความ ๑๐ ปี
นับแต่มีการรับสภาพหนี้ตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๙๓/๑๔ และ ๑๙๓/๑๕(ฎีกาที่ ๔๕๐๗/๒๕๔๗),
จำเลยทำหนังสือให้แก่โจทก์เพื่อรับรองว่าจำเลยยังมีหนี้ค่าจ้างก่อสร้างค้างชำระแก่โจทก์อยู่
โดยทำหนังสือขึ้นหลังจากมูลหนี้ค่าจ้างก่อสร้างขาดอายุความไปแล้ว
จึงไม่ใช่หนังสือรับสภาพหนี้อันจะทำให้อายุความสะดุดหยุดลงตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
มาตรา ๑๙๓/๑๔(๑) แต่มีลักษณะเป็นหนังสือรับสภาพความรับผิดที่จำเลยกระทำเป็นหลักฐานให้แก่โจทก์
อันก่อสิทธิเรียกร้องแก่โจทก์ตามมาตรา ๑๙๓/๓๕ ซึ่งมีอายุความ ๒ ปี
นับแต่วันที่ได้รับสภาพความรับผิด(ฎีกาที่ ๑๐๘๘๑/๒๕๔๖),
21. การเริ่มนับอายุความตามหนังสือรับสภาพหนี้; โจทก์ฟ้องเรียกร้องสิทธิตามสัญญาเบิกเงินเกินบัญชี
และหนี้อันเกิดจากการใช้บัตรเครดิตโดยมีหนังสือรับสภาพหนี้ระบุว่า
หากผิดนัดชำระหนี้ไม่ว่างวดใดงวดหนึ่งหรือกรณีใดกรณีหนึ่งให้ถือว่าผิดนัดทั้งหมด
เมื่อปรากฏว่าจำเลยได้ชำระหนี้แก่โจทก์ครั้งสุดท้ายในวันที่ไม่ตรงกำหนดในหนังสือรับสภาพหนี้ เหตุที่ให้อายุความสะดุดหยุดลงจึงได้สิ้นสุดในวันดังกล่าวหาใช่สิ้นสุดในวันครบกำหนดตามหนังสือรับสภาพหนี้ไม่
เมื่อโจทก์นำคดีมาฟ้องเกินสองปีนับแต่วันดังกล่าว คดีโจทก์จึงขาดอายุความ(ฎีกาที่
๑๒๐๙/๒๕๔๗),
22. ลูกหนี้ไม่ชำระหนี้ตามหนังสือรับสภาพหนี้; จำเลยเป็นทายาทและผู้จัดการมรดกของเจ้ามรดก
ได้ทำหนังสือรับสภาพหนี้เงินกู้ของเจ้ามรดกที่ได้กู้เงินไปจากโจทก์
โดยจำเลยตกลงว่าหากจำเลยได้รับมรดกมาเป็นจำนวนเท่าใด
จำเลยจะชำระหนี้ดังกล่าวทั้งต้นเงินและดอกเบี้ยแก่โจทก์จนครบ
ถ้าทรัพย์มรดกที่จำเลยได้รับมาไม่พอแก่การชำระหนี้
จำเลยจะยกทรัพย์มรดกที่รับมาทั้งหมดให้โจทก์การที่จำเลยไม่ปฏิบัติการชำระหนี้ก็ดี
หรือจำเลยไม่โอนทรัพย์มรดกให้แก่โจทก์
ล้วนแต่เป็นการผิดนัดไม่ชำระหนี้ตามสัญญารับสภาพหนี้เท่านั้น
โจทก์ชอบที่จะฟ้องบังคับจำเลยให้ชำระหนี้หรือเรียกเอา ค่าเสียหายหรือค่าสินไหมทดแทนอันเกิดแต่การไม่ชำระหนี้นั้นได้ตาม
ป.พ.พ. มาตรา ๒๑๓,๒๑๕,๒๒๒ หรือมาตรา
๒๒๔ แล้วแต่กรณี การกระทำของจำเลยดังกล่าวมิใช่เป็นการกระทำละเมิดต่อโจทก์(ฎีกาที่
๓๗๕๗/๒๕๔๓),
23. ผู้จัดการมรดกหรือทายาทรับสภาพหนี้ต่อเจ้าหนี้ของเจ้ามรดก; จำเลยในฐานะผู้จัดการมรดกและทายาทของ
ด. ยอมรับสภาพหนี้ของ ด. ต่อโจทก์ มีผลผูกพันกองมรดกของ ด.
เท่านั้นที่จะต้องรับผิดในหนี้สินตามที่ปรากฏในหนังสือรับสภาพหนี้ ไม่อาจถือได้ถึงขนาดว่าจำเลยยอมเข้าผูกพันตนเป็นลูกหนี้แทนในลักษณะแปลงหนี้ใหม่ด้วยเปลี่ยนตัวลูกหนี้
จำเลยจึงมิใช่ลูกหนี้โดยตรงของโจทก์(ฎีกาที่ ๓๒๔๒/๒๕๔๓),
0 Comments
แสดงความคิดเห็น