คำพิพากษาฎีกาที่ ๘๘๗๓/๒๕๖๑ (ประชุมใหญ่) 

               เงินค่าหุ้นและเงินสงเคราะห์มีลักษณะพิเศษตามข้อบังคับ และระเบียบของสหกรณ์จำเลยซึ่งเป็นนิติบุคคลประเภทสหกรณ์ ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ เพื่อให้การบริหารเงินของสหกรณ์เป็นไปโดยสะดวกเพื่อประโยชน์ของสมาชิกและออกตามบทบัญญัติของกฎหมาย จึงเป็นกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติการจัดการเงินของสมาชิกสหกรณ์ไว้โดยเฉพาะย่อมมีผลบังคับได้นอกเหนือจากการทำพินัยกรรม การทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ของผู้ตายตามข้อบังคับของจำเลยตามหลักเกณฑ์ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๓ มาตรา ๔ ที่ให้เพิ่มตามมาตรา ๔๒/๒ แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒ จึงมีผลบังคับได้ ไม่จำเป็นต้องทำตามแบบพินัยกรรมและไม่ถือว่าเป็นพินัยกรรมโดยมีผลบังคับแตกต่างจากการทำพินัยกรรม

               ผู้ตายทำหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในทุนเรือนหุ้นไว้แก่สหกรณ์จำเลยแล้ว ทุนเรือนหุ้นจึงไม่เป็นมรดกของผู้ตายที่ผู้ตายจะทำพินัยกรรมยกทุนเรือนหุ้นนั้นให้แก่ผู้อื่นอีกโดยเป็นกรณีที่มีกฎหมายพระราชบัญญัติสหกรณ์บัญญัติไว้เป็นอย่างอื่นที่ทำให้ทายาทต้องเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๕๙๙ วรรคสอง หนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์ในส่วนเงินทุนเรือนหุ้นไม่เป็นพินัยกรรมของผู้ตายและไม่ตกเป็นโมฆะ การที่จำเลยชำระเงินค่าหุ้นของผู้ตายให้แก่จำเลยร่วมตามหนังสือแต่งตั้งผู้รับโอนประโยชน์เป็นการกระทำไปโดยมีสิทธิที่จะทำได้ ไม่เป็นการกระทำละเมิดแก่โจทก์ตามฟ้อง

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๕๕๙ เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาท

               ทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่น

 

พ.ร.บ.สหกรณ์ พ.ศ.๒๕๔๒

               มาตรา ๔๒/๒ สมาชิกอาจทำหนังสือตั้งบุคคลหนึ่งหรือหลายคนเป็นผู้รับโอนประโยชน์ในเงินค่าหุ้น เงินฝาก หรือเงินอื่นใดจากสหกรณ์เมื่อตนถึงแก่ความตาย โดยมอบไว้แก่สหกรณ์เป็นหลักฐาน