คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๕๒๖/๒๕๒๕

                    กรณีเกี่ยวกับลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้อำนาจลงลายมือชื่อแทนกันได้แม้เจ้าของลายมือชื่ออนุญาตหรือให้ความยินยอมก็ลงลายมือชื่อแทนกันไม่ได้ การที่จำเลยทำหนังสือถึงผู้จัดการสหกรณ์ แจ้งให้ทราบว่า ศ. น้องสาวโจทก์เดินทางไปศึกษาต่อต่างประเทศและขอลาออกจากสมาชิกสหกรณ์ โดยใช้ชื่อโจทก์หรือลงลายมือชื่อโจทก์ จึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร ดังที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๖๔ แต่เมื่อปรากฏว่าจำเลยทำหนังสือดังกล่าวโดยความยินยอมของโจทก์ โจทก์จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะได้รับความเสียหาย ศ.และ สหกรณ์ก็ไม่ได้รับความเสียหาย จำเลยจึงไม่มีความผิด

 

เพิ่มเติม

                    ฎีกาที่ ๑๐๒๐/๒๕๑๗ ลายมือชื่อนั้นไม่มีกฎหมายให้เซ็นแทนกันได้ แม้จะมอบอำนาจก็เซ็นแทนไม่ได้ จำเลยเซ็นชื่อสามีจำเลยลงในสัญญามัดจำซื้อขายที่ดินจึงเป็นการลงลายมือชื่อปลอม แต่ความผิดฐาน ปลอมเอกสารนั้นจะต้องมีลักษณะที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชนด้วย เมื่อผู้เสียหายรู้จักชื่อและตัวสามีจำเลยผู้เป็นเจ้าของที่ดินตลอดจนจำเลยซึ่งเป็นภรรยาอยู่ก่อนแล้ว ยังได้สมัครใจเข้าทำสัญญากับจำเลยและรู้เห็นว่าจำเลยได้ลงชื่อสามีจำเลยในช่องผู้ให้สัญญาตอนทำสัญญานั้น จากพฤติการณ์ดังกล่าวแสดงว่าผู้เสียหายมิได้หลงผิดหรือหลงเชื่อ จึงไม่อยู่ในฐานะที่จะอ้างว่าได้รับความเสียหายตามกฎหมาย สามีจำเลยก็ไม่เสียหายเพราะเป็นผู้มอบอำนาจให้จำเลยไว้ จำเลยจึงไม่มีความผิด

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๒๖๔ ผู้ใดทำเอกสารปลอมขึ้นทั้งฉบับหรือแต่ส่วนหนึ่งส่วนใด เติมหรือตัดทอนข้อความ หรือแก้ไขด้วยประการใด ๆ ในเอกสารที่แท้จริง หรือประทับตราปลอม หรือลงลายมือชื่อปลอมในเอกสาร โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายแก่ผู้อื่นหรือประชาชน ถ้าได้กระทำเพื่อให้ผู้หนึ่งผู้ใดหลงเชื่อว่าเป็นเอกสารที่แท้จริง ผู้นั้นกระทำความผิดฐานปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหก หมื่นบาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

               ผู้ใดกรอกข้อความลงในแผ่นกระดาษหรือวัตถุอื่นใด ซึ่งมีลายมือชื่อของผู้อื่นโดยไม่ได้รับความยินยอม หรือโดยฝ่าฝืนคำสั่งของผู้อื่นนั้น ถ้าได้กระทำเพื่อนำเอาเอกสารนั้นไปใช้ในกิจการที่อาจเกิดเสียหาย แก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือประชาชน ให้ถือว่าผู้นั้นปลอมเอกสาร ต้องระวางโทษเช่นเดียวกัน