คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๙๒๒/๒๕๖๒ 

               การสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามิได้บัญญัติวิธีการสอบสวนไว้เป็นการเฉพาะเหมือนดังเช่นการสอบปากคำผู้เสียหายที่เป็นเด็กอายุยังไม่เกินสิบแปดปีในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศตามมาตรา ๑๓๓ ทวิ ว่า จะต้องมีสหวิชาชีพอยู่ร่วมด้วยในการสอบปากคำเด็กนั้นด้วย พนักงานสอบสวนชอบที่จะใช้วิธีการสอบปากคำผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญาเช่นเดียวกับการสอบปากคำบุคคลปกติ

               คำให้การชั้นสอบสวนของผู้เสียหายซึ่งมีความบกพร่องทางสติปัญญา แม้ไม่มีแพทย์ด้านจิตเวชศาสตร์และนักจิตวิทยาคลินิกและชุมชนเข้าร่วมฟังการสอบสวนจะมีความน่าเชื่อถือและรับฟังได้มากน้อย เพียงใด ถือเป็นดุลพินิจของศาลในขั้นตอนการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐาน แต่เมื่อโจทก์นำตัวผู้เสียหายมาเบิกความจำเลยมีโอกาสถามค้าน ศาลย่อมมีอำนาจรับฟังคำเบิกความของผู้เสียหายลงโทษจำเลยได้มิใช่ศาลอาศัยเพียงลำพังแต่คำให้การในชั้นสอบสวนของผู้เสียหายรับฟังลงโทษจำเลย

               ตามฎีกานี้ ผู้เสียหายอายุ ๒๐ ปี เป็นผู้บกพร่องทางสติปัญญาโดยมีระดับสติปัญญาเท่ากับ ๖๑ ต่ำกว่าบุคคลปกติซึ่งจะมากกว่า ๘๐ ขึ้นไป

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๑๓๓ ทวิ ในคดีความผิดเกี่ยวกับเพศ ความผิดเกี่ยวกับชีวิตและร่างกายอันมิใช่ความผิดที่เกิดจากการชุลมุนต่อสู้ ความผิดเกี่ยวกับเสรีภาพ ความผิดฐานกรรโชก ชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยมาตรการในการป้องกันและปราบปรามการค้าหญิงและเด็ก ความผิดตามกฎหมายว่าด้วยสถานบริการ หรือคดีความผิดอื่นที่มีอัตราโทษจำคุก ซึ่งผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปีร้องขอ การถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กอายุไม่เกินสิบแปดปี ให้พนักงานสอบสวนแยกกระทำเป็นส่วนสัดในสถานที่ที่เหมาะสมสำหรับเด็ก และให้มีนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการร่วมอยู่ด้วยในการถามปากคำเด็กนั้น และในกรณีที่นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ เห็นว่าการถามปากคำเด็กคนใดหรือคำถามใด อาจจะมีผลกระทบกระเทือนต่อจิตใจเด็กอย่างรุนแรง ให้พนักงานสอบสวนถามผ่านนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์เป็นการเฉพาะตามประเด็นคำถามของพนักงาน สอบสวน โดยมิให้เด็กได้ยินคำถามของพนักงานสอบสวนและห้ามมิให้ถามเด็กซ้ำซ้อนหลายครั้งโดยไม่มีเหตุอันสมควร

               ให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนที่จะต้องแจ้งให้นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการทราบ รวมทั้งแจ้งให้ผู้เสียหายหรือพยานที่เป็นเด็กทราบถึงสิทธิตามวรรคหนึ่งด้วย

               นักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ หรือพนักงานอัยการที่เข้าร่วมในการถามปากคำอาจถูกผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กตั้งรังเกียจได้ หากมีกรณีดังกล่าวให้เปลี่ยนตัวผู้นั้น

               ภายใต้บังคับแห่งมาตรา ๑๓๙ การถามปากคำเด็กตามวรรคหนึ่ง ให้พนักงานสอบสวนจัดให้มีการบันทึกภาพและเสียงการถามปากคำดังกล่าวซึ่งสามารถนำออกถ่ายทอดได้อย่างต่อเนื่องไว้เป็นพยาน

               ในกรณีจำเป็นเร่งด่วนอย่างยิ่งซึ่งมีเหตุอันควรไม่อาจรอนักจิตวิทยาหรือนักสังคมสงเคราะห์ บุคคลที่เด็กร้องขอ และพนักงานอัยการเข้าร่วมในการถามปากคำพร้อมกันได้ ให้พนักงานสอบสวนถามปากคำเด็กโดยมีบุคคลใดบุคคลหนึ่งตามวรรคหนึ่งอยู่ร่วมด้วยก็ได้ แต่ต้องบันทึกเหตุที่ไม่อาจรอบุคคลอื่นไว้ในสำนวนการสอบสวน และมิให้ถือว่าการถามปากคำผู้เสียหายหรือพยานซึ่งเป็นเด็กในกรณีดังกล่าวที่ได้กระทำไปแล้ว ไม่ชอบด้วยกฎหมาย