คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๗๒๐/๒๕๖๒ 

               ตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๘๐๘ บัญญัติว่า “ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้” เมื่อหนังสือมอบอำนาจ ข้อ ๑ ระบุว่า โจทก์มอบอำนาจให้ ส. ดำเนินคดีแทน และข้อ ๙ ให้ผู้รับมอบอำนาจสามารถมอบอำนาจช่วงให้บุคคลอื่นใดที่สมควรกระทำการแทนตามกิจการที่ได้รับมอบหมายดังกล่าวได้ด้วย ดังนั้น ส. จึงมีอำนาจตั้งบริษัท ก. เป็นตัวแทนช่วงให้ดำเนินคดีแทนได้ แต่บริษัท ก. ต้องดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายด้วยตนเองเนื่องจากตามหนังสือมอบอำนาจของโจทก์ ไม่มีข้อความระบุว่าโจทก์ให้อำนาจผู้รับมอบอำนาจช่วงตั้งบุคคลอื่นเป็นตัวแทนช่วงทำการแทนต่อไปอีกได้ แม้ตามหนังสือมอบอำนาจช่วงมีข้อความว่า ให้บริษัท ก. มีอำนาจมอบอำนาจช่วงให้บุคคลคนเดียวหรือหลายคนดำเนินการตามขอบเขตหนังสือมอบอำนาจนี้ได้ ก็เป็นเรื่องนอกเหนือขอบอำนาจที่โจทก์ระบุไว้ในหนังสือมอบอำนาจ บริษัท ก. ไม่มีอำนาจตั้งให้ ด. หรือ ภ. หรือ ว. เป็นตัวแทนช่วงดำเนินการตามที่ได้รับมอบหมายมานั้นแทนตน ด. หรือ ภ. หรือ ว.  ย่อมไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้แทนโจทก์ได้ โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้องจำเลย

 

               ตามฎีกานี้ ถ้าหากหนังสือมอบอำนาจระบุว่า ให้ผู้รับมอบอำนาจช่วง มีอำนาจมอบอำนาจช่วงต่อไปได้ ดังนี้ แนวคำพิพากษาฎีกาจะเปลี่ยนไปหรือไม่

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

                    มาตรา ๘๐๘ ตัวแทนต้องทำการด้วยตนเอง เว้นแต่จะมีอำนาจใช้ตัวแทนช่วงทำการได้