คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๐๒๐/๒๕๖๑ 

               คำร้องแสดงอำนาจพิเศษตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ จัตวา (๓) (เดิม) ไม่เป็นเสมือนหนึ่งเป็นคำฟ้องที่ผู้ร้องมีฐานะเป็นโจทก์ และโจทก์มีฐานะเป็นจำเลยที่จะต้องทำคำให้การเป็นหนังสือยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง การที่ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในคำร้องขอแสดงอำนาจพิเศษของผู้ร้องว่า นัดไต่สวน สำเนาให้โจทก์ จำเลย และเจ้าพนักงานบังคับคดี หากจะคัดค้านให้คัดค้านก่อนวันนัด มิฉะนั้นถือว่าไม่ติดใจคัดค้าน แล้วออกหมายนัดไปยังโจทก์และผู้ที่เกี่ยวข้องให้ยื่นคำแถลงคัดค้านก่อนวันนัด มิใช่เป็นการขยายระยะเวลายื่นคำให้การเพราะกรณีดังกล่าวกฎหมายมิได้กำหนดระยะเวลาสิ้นสุดเพื่อให้ดำเนินการหรือไม่ให้ดำเนินการกระบวนพิจารณาใด ๆ แต่เป็นเรื่องของศาลชั้นต้นใช้อำนาจทั่วไปกำหนดระยะเวลาให้โจทก์และผู้ที่เกี่ยวข้องยื่นคำคัดค้าน กระบวนพิจารณาของศาลชั้นต้นที่กำหนดให้โจทก์ยื่นคำคัดค้านภายในวันนัดไต่สวนคำร้องแสดงอำนาจพิเศษจึงมิใช่กระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบ

               ผู้ร้องเช่าช่วงอาคารพิพาทจากจำเลยโดยไม่ได้รับความยินยอมจากโจทก์ซึ่งเป็นผู้ให้เช่า ผู้ร้องไม่อาจยกการเช่าช่วงนั้นใช้ยันโจทก์ได้ การเช่าช่วงจึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย ต้องถือว่าผู้ร้องเป็นบริวารของ จำเลย ไม่เป็นผู้มีอำนาจพิเศษเหนืออาคารพิพาทตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๙๖ จัตวา (๓) (เดิม)

 

เพิ่มเติม

               หากเป็นคำร้องสอดตาม ป.วิ.พ.มาตรา ๕๗ (๑) ถือว่าเป็นคำฟ้อง  โจทก์และจำเลย ต้องยื่นคำคัดค้านภายในสิบหาวัน ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๗๗ วรรคหนึ่ง

               ฎีกาที่ ๔๔๑๐/๒๕๔๒ ผู้ร้องสอดยื่นคำร้องเข้ามาเป็นคู่ความฝ่ายที่สามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๕๗ (๑)  คำร้องดังกล่าวเป็นคำฟ้อง