คำพิพากษาฎีกาที่ ๓๒๒๘/๒๕๖๓ 

               ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘ ที่บัญญัติว่า “เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้” เป็นบทบัญญัติ ให้ศาลใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบังคับที่จะต้องลดโทษให้แก่ผู้กระทำความผิดเพราะมีเหตุบรรเทาโทษเสมอไปไม่

               ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ ไม่ได้ยกปัญหาที่จำเลยทั้งสองให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์มาเป็นเหตุลดโทษให้จำเลยทั้งสองเพราะเห็นว่าล่วงเลยเวลาที่จะขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การหรืออุทธรณ์ของจำเลยทั้งสองแล้ว จึงมิใช่การลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาล อันจะเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา ย่อมเป็นดุลพินิจของศาลอุทธรณ์ ภาค ๔ ที่จะไม่ลดโทษให้จำเลยทั้งสองได้ กรณีไม่ใช่เรื่องที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ วินิจฉัยคดีและพิพากษาโดยคลาดเคลื่อนหรือไม่ถูกต้องตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๗๘

 

               ตามฎีกานี้ ระหว่างพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๔ จำเลยทั้งสองยื่นคำร้อง ขอให้การรับสารภาพในชั้นอุทธรณ์และขอให้รอการลงโทษ

              

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๑๘๔๕/๒๕๖๐ ตามบทบัญญัติ ป.อ. มาตรา ๗๘ เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ถ้าศาลเห็นสมควรจะลดโทษให้ไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้ซึ่งเป็นบทบัญญัติในการใช้ดุลพินิจในการลงโทษให้เหมาะสมแก่พฤติการณ์ของผู้กระทำความผิดเป็นรายบุคคลไป หาใช่บทบัญญัติให้ศาลต้องแสดงเหตุผลเมื่อไม่ลดโทษให้ผู้กระทำความผิด ทั้งการที่ศาลชั้นต้นไม่ระบุเหตุผลอาจเพราะเห็นว่าไม่จำเป็นหรือเห็นว่าไม่สมควรลดโทษในส่วนโทษปรับรายวันให้ ซึ่งขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาล ฉะนั้น การที่ศาลไม่ได้ลดโทษปรับรายวันให้จำเลยทั้งสองโดยไม่ระบุเหตุผล จึงไม่ใช่เรื่องที่ศาลชั้นต้นวินิจฉัยคดีโดยไม่ชอบด้วย ป.อ. มาตรา ๗๘

 

ประมวลกฎหมายอาญา

               มาตรา ๗๘ เมื่อปรากฏว่ามีเหตุบรรเทาโทษ ไม่ว่าจะได้มีการเพิ่มหรือการลดโทษตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้หรือกฎหมายอื่นแล้วหรือไม่ ถ้าศาลเห็นสมควร จะลดโทษไม่เกินกึ่งหนึ่งของโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้นก็ได้

               เหตุบรรเทาโทษนั้น ได้แก่ผู้กระทำความผิดเป็นผู้โฉดเขลาเบาปัญญาตกอยู่ในความทุกข์อย่างสาหัส มีคุณความดีมาแต่ก่อน รู้สึกความผิดและพยายามบรรเทาผลร้ายแห่งความผิดนั้น ลุแก่โทษต่อเจ้าพนักงานหรือให้ความรู้แก่ศาลอันเป็นประโยชน์แก่การพิจารณา หรือเหตุอื่นที่ศาลเห็นว่ามีลักษณะทำนองเดียวกัน