คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๘๒/๒๕๖๓ 

               การแบ่งปันทรัพย์มรดกซึ่งอาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๕๐ นั้น เป็นกรณีซึ่งข้อเท็จจริงต้องได้ความชัดแจ้งว่าทายาทได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกโดยต่างเข้าครอบครองทรัพย์มรดกตามส่วนแบ่งนั้นอย่างเป็นส่วนสัด และชัดเจนว่าทายาทคนใดเข้าครอบครองที่ดินทรัพย์มรดกนั้นในส่วนใด มีอาณาเขตและเนื้อที่ดินเข้าครอบครองแบ่งแยกกันจนชัดเจนเพียงพอที่จะดำเนินการจดทะเบียนแบ่งแยกกรรมสิทธิ์กันได้

               ทายาทของ ล. มิได้ตกลงแบ่งปันทรัพย์มรดกกันโดยต่างเข้าครอบครองที่ดินมรดกเป็นส่วนสัดตามมาตรา ๑๗๕๐ ที่ดินมรดกยังไม่พ้นสภาพจากการเป็นทรัพย์มรดกของ ล. เมื่อจำเลยที่ ๑ ซึ่งเป็นผู้จัดการมรดกยังมิได้ดำเนินการจัดแบ่งทรัพย์มรดกให้แก่ทายาททุกคนตามสิทธิของทายาทที่กฎหมายกำหนดไว้หรือตามที่ทายาทตกลงกัน ก็ต้องถือว่าการจัดการทรัพย์มรดกยังไม่เสร็จสิ้น ดังนี้ จำเลยทั้งสี่ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินมรดกแทนทายาทอื่น ๆ ของ ล. จะนำอายุความ ๕ ปี ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๓๓ วรรคสอง มาใช้บังคับไม่ได้ และกรณีเป็นไปตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๔๘ วรรคหนึ่ง คดีของโจทก์ที่ ๑ ถึงที่ ๑๒ ไม่ขาดอายุความ

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๑๗๓๓ วรรคสอง       คดีเกี่ยวกับการจัดการมรดกนั้น มิให้ทายาทฟ้องเกินกว่าห้าปีนับแต่การจัดการมรดกสิ้นสุดลง

               มาตร ๑๗๔๘ ทายาทคนใดครอบครองทรัพย์มรดกซึ่งยังมิได้แบ่งกัน ทายาทคนนั้นมีสิทธิที่จะเรียกร้องให้แบ่งทรัพย์มรดกนั้นได้ แม้ว่าจะล่วงพ้นกำหนดอายุความตามมาตรา ๑๗๕๔ แล้วก็ดี สิทธิที่จะเรียกให้แบ่งทรัพย์มรดกตามวรรคก่อน จะตัดโดยนิติกรรมเกินคราวละสิบปีไม่ได้

               มาตรา ๑๗๕๐ การแบ่งปันทรัพย์มรดกนั้น อาจทำได้โดยทายาทต่างเข้าครอบครองทรัพย์สินเป็นส่วนสัด หรือโดยการขายทรัพย์มรดกแล้วเอาเงินที่ขายได้มาแบ่งปันกันระหว่างทายาท

               ถ้าการแบ่งปันมิได้เป็นไปตามวรรคก่อน แต่ได้ทำโดยสัญญาจะฟ้องร้องให้บังคับคดีหาได้ไม่ เว้นแต่จะมีหลักฐานเป็นหนังสืออย่างหนึ่งอย่างใดลงลายมือชื่อฝ่ายที่ต้องรับผิดหรือตัวแทนของฝ่ายนั้นเป็นสำคัญ ในกรณีเช่นนี้ให้นำมาตรา ๘๕๐, ๘๕๒ แห่งประมวลกฎหมายนี้ว่าด้วยประนีประนอมยอมความมาใช้บังคับโดยอนุโลม