คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๑๖/๒๕๖๑ 
               ก่อนโจทก์ฟ้องคดีนี้รถที่เช่าซื้อยังไม่ได้ถูกจำหน่ายจ่ายโอนไปยังบุคคลอื่น แม้โจทก์ดำเนินคดีอาญาในความผิดฐานยักยอกแก่จำเลยที่ ๑ และที่ ๓ ต่อศาลชั้นต้น ซึ่งศาลชั้นต้นไต่สวนแล้วมีคำสั่งว่าคดีมีมูลและ อยู่ระหว่างจำหน่ายคดีชั่วคราวและออกหมายจับ ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่โจทก์ยื่นฟ้องคดีนี้ ประกอบกับคำสั่งคดีมีมูลตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๖๗ ไม่ใช่ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญาที่คดีส่วนแพ่งต้องถือตามดังที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๖ ดังนั้นในขณะยื่นฟ้องคดีนี้ สัญญาเช่าซื้อจึงยังไม่เลิกกันเพราะเหตุผู้เช่าซื้อนำทรัพย์สินที่เช่าซื้อไปจำหน่ายให้ผู้อื่นครอบครอง หรือนำไปไว้ที่อื่นตามสัญญาเช่าซื้อข้อ ๔
               รถที่เช่าซื้อเป็นรถจักรยานยนต์ จึงอยู่ภายใต้บังคับประกาศ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญา เรื่อง ให้ธุรกิจให้เช่าซื้อรถยนต์และรถจักรยานยนต์เป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญา พ.ศ. ๒๕๕๕ (ที่ใช้บังคับอยู่ในขณะนั้น) ซึ่งออกโดยอาศัยอำนาจตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ ทวิ โดยในประกาศ ฯ ข้อ ๔ ระบุว่าข้อสัญญาต้องมีสาระสำคัญและเงื่อนไข ดังต่อไปนี้ (๔) ผู้ให้เช่าซื้อมีสิทธิบอกเลิกสัญญาเช่าซื้อได้ ในกรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อรายงวดสามงวดติด ๆ กัน และผู้ให้เช่าซื้อมีหนังสือ บอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ และผู้เช่าซื้อละเลยเสียไม่ปฏิบัติตามหนังสือบอกกล่าวนั้นซึ่งโดยผลของประกาศฯ ดังกล่าว หากคู่สัญญาไม่ปฏิบัติตาม พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๒๒ มาตรา ๓๕ ตรี ให้ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาตามประกาศฯ แล้วแต่กรณี โจทก์จึงไม่อาจอ้างเหตุการณ์เลิกสัญญาเนื่องจากผู้เช่าซื้อผิดนัดงวดใดงวดหนึ่งแล้ว สัญญาเลิกกัน โดยผู้ให้เช่าซื้อมิต้องบอกกล่าวตามสัญญาเช่าซื้อ ข้อ ๘ มาใช้บังคับได้ เมื่อโจทก์ไม่ปฏิบัติตามประกาศฯ คือ ต้องรอให้ผู้เช่าซื้อผิดนัดสามงวดติดต่อกันและมีหนังสือบอกกล่าวผู้เช่าซื้อให้ใช้เงินรายงวดที่ค้างชำระนั้นภายในเวลาอย่างน้อยสามสิบวันนับแต่วันที่ผู้เช่าซื้อได้รับหนังสือ จึงจะมีสิทธิเลิกสัญญา สัญญาเช่าซื้อจึงไม่เลิกกันเพราะเหตุผู้เช่าซื้อผิดนัด ทั้งโจทก์ยังไม่อาจอ้างเอาวิธีการเลิกสัญญาโดยการบอกกล่าวทางโทรศัพท์หรือวิธีอื่นใดมาใช้บังคับแก่กรณีผู้เช่าซื้อผิดนัดชำระค่าเช่าซื้อนี้ได้ เมื่อสัญญาเช่าซื้อยังไม่เลิกกัน โจทก์จึงไม่มีอำนาจฟ้อง และศาลชั้นต้นย่อมมีอำนาจหยิบยกปัญหาเรื่องอำนาจฟ้องซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายอันเกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนขึ้นวินิจฉัยได้เองตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๕) ประกอบ พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีผู้บริโภค พ.ศ. ๒๕๕๑ มาตรา ๗

               ตามฎีกานี้ โจทก์ได้รับอนุญาตให้ฎีกาว่า โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยทั้งสามให้ร่วมกันรับผิดตามสัญญาเช่าซื้อและสัญญาค้ำประกัน เนื่องจากสัญญาเช่าซื้อระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เลิกกันหรือไม่

พระราชบัญญัติคุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ.๒๕๒๒
               มาตรา ๓๕ ทวิ ในการประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการใด ถ้าสัญญาซื้อขายหรือสัญญาให้บริการนั้นมีกฎหมายกำหนดให้ต้องทำเป็นหนังสือ หรือที่ตามปกติประเพณีทำเป็นหนังสือ คณะกรรมการว่าด้วยสัญญามีอำนาจกำหนดให้การประกอบธุรกิจขายสินค้าหรือให้บริการนั้นเป็นธุรกิจที่ควบคุมสัญญาได้
               ในการประกอบธุรกิจที่ควบคุมสัญญา สัญญาที่ผู้ประกอบธุรกิจทำกับผู้บริโภคจะต้องมีลักษณะดังต่อไปนี้
               (๑) ใช้ข้อสัญญาที่จำเป็นซึ่งหากมิได้ใช้ข้อสัญญาเช่นนั้น จะทำให้ผู้บริโภคเสียเปรียบผู้ประกอบธุรกิจเกินสมควร
               (๒) ห้ามใช้ข้อสัญญาที่ไม่เป็นธรรมต่อผู้บริโภค
               ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และรายละเอียดที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนด และเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภคเป็นส่วนรวม คณะกรรมการว่าด้วยสัญญาจะให้ผู้ประกอบธุรกิจจัดทำสัญญาตามแบบ ที่คณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดก็ได้
               การกำหนดตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดโดยพระราชกฤษฎีกา
               มาตรา ๓๕ ตรี เมื่อคณะกรรมการว่าด้วยสัญญากำหนดให้สัญญาของการประกอบธุรกิจที่ควบคุมสัญญาต้องใช้ข้อสัญญาใด หรือต้องใช้ข้อสัญญาใดโดยมีเงื่อนไขในการใช้ข้อสัญญานั้นด้วยตามมาตรา ๓๕ ทวิ แล้ว ถ้าสัญญานั้นไม่ใช้ข้อสัญญาดังกล่าวหรือใช้ข้อสัญญาดังกล่าวแต่ไม่เป็นไปตามเงื่อนไข ให้ถือว่าสัญญานั้นใช้ข้อสัญญาดังกล่าวหรือใช้ข้อสัญญาดังกล่าวตามเงื่อนไขนั้น แล้วแต่กรณี