คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๖๓๒๙/๒๕๖๑ 
               โจทก์ฟ้องขอให้บังคับจำเลยพร้อมบริวารออกจากการทำประโยชน์ที่ดินพิพาทห้ามเกี่ยวข้อง ให้จำเลยขนย้ายหรือไถหรือทำลายต้นอ้อยออกจากที่ดิน หากไม่ปฏิบัติตามให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการโดยจำเลยเป็นผู้ออกค่าใช้จ่าย และตามรายงานกระบวนพิจารณาจำเลยแถลงต่อศาลชั้นต้นว่า จำเลยไม่เคยยุ่งเกี่ยวหรือเข้าไปทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทแต่อย่างใด แต่มีมารดาและน้องจำเลยเข้าทำประโยชน์ เป็นกรณีที่จำเลยอ้างว่า มารดาและน้องจำเลยเป็นผู้ทำความเสียหายแก่โจทก์ โจทก์ย่อมมีสิทธิฟ้องมารดาและน้องจำเลยเพื่อใช้ค่าทดแทนได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๒ (๓) และเมื่อศาลชั้นต้นได้มีหมายเรียกมารดาและน้องจำเลยเข้ามาเป็นจำเลยร่วมทั้งสองในคดีตามที่โจทก์ร้องขอแล้ว อันทำให้จำเลยร่วมทั้งสองมีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๕๘ วรรคหนึ่ง เมื่อศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาให้ขับไล่จำเลยพร้อมบริวารออกจากที่ดินพิพาท แม้ฟ้องโจทก์จะมิได้ฟ้องจำเลยร่วมทั้งสองซึ่งเป็นผู้ร้องสอดก็ตาม คำพิพากษาให้ขับไล่ย่อมใช้บังคับแก่จำเลยร่วมทั้งสองได้ตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๑๔๒ (๑) จะถือว่าเป็นการพิพากษาเกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้องหาได้ไม่

               ตามฎีกานี้ จำเลยร่วมทั้งสองฎีกาว่า การเรียกให้จำเลยร่วมทั้งสองเข้ามาในคดีถือว่าเป็นการฟ้องจำเลยร่วมทั้งสองอีกเรื่องหนึ่งโจทก์จึงต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง แต่โจทก์ไม่ได้แก้ไขคำฟ้องเพียงแต่แก้ไขคำขอท้ายฟ้อง ศาลล่างทั้งสองจึงไม่อาจพิพากษาให้จำเลยร่วมทั้งสองรับผิดตามคำขอท้ายฟ้องได้นั้น

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๕๘ ผู้ร้องสอดที่ได้เข้าเป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๑) และ (๓) แห่งมาตราก่อนนี้ มีสิทธิเสมือนหนึ่งว่าตนได้ฟ้องหรือถูกฟ้องเป็นคดีเรื่องใหม่ ซึ่งโดยเฉพาะผู้ร้องสอดอาจนำพยานหลักฐานใหม่มาแสดง คัดค้านเอกสารที่ได้ยื่นไว้ ถามค้านพยานที่ได้สืบมาแล้วและคัดค้านพยานหลักฐานที่ได้สืบไปแล้วก่อนที่ตนได้ร้องสอด อาจอุทธรณ์ฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ และอาจได้รับหรือถูกบังคับให้ใช้ค่าฤชาธรรมเนียม
               ห้ามมิให้ผู้ร้องสอดที่ได้เป็นคู่ความตามอนุมาตรา (๒) แห่งมาตราก่อน ใช้สิทธิอย่างอื่นนอกจากสิทธิที่มีอยู่แก่คู่ความฝ่ายซึ่งตนเข้าเป็นโจทก์ร่วมหรือจำเลยร่วมในชั้นพิจารณาเมื่อตนร้องสอด และห้ามมิให้ใช้สิทธิเช่นว่านั้นในทางที่ขัดกับสิทธิของโจทก์หรือจำเลยเดิม และให้ผู้ร้องสอดเสียค่าฤชาธรรมเนียมอันเกิดแต่การที่ร้องสอด แต่ถ้าศาลได้อนุญาตให้เข้าแทนที่โจทก์หรือจำเลยเดิม ผู้ร้องสอดจึงมีฐานะเสมอด้วยคู่ความที่ตนเข้าแทน
               เมื่อได้มีคำพิพากษาหรือคำสั่งแล้ว ถ้ามีข้อเกี่ยวข้องกับคดี เป็นปัญหาจะต้องวินิจฉัยในระหว่างผู้ร้องสอดกับคู่ความฝ่ายที่ตนเข้ามาร่วม หรือที่ตนถูกหมายเรียกให้เข้ามาร่วม ผู้ร้องสอดย่อมต้องผูกพันตามคำพิพากษาหรือคำสั่งนั้น เว้นแต่ในกรณีต่อไปนี้
               (๑) เนื่องจากความประมาทเลินเล่อของคู่ความนั้น ทำให้ผู้ร้องสอดเข้ามาเป็นคู่ความในคดีช้าเกินสมควรที่จะแสดงข้อเถียงอันเป็นสาระสำคัญได้ หรือ
               (๒) เมื่อคู่ความนั้นจงใจหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงมิได้ยกขึ้นใช้ซึ่งข้อเถียงในปัญหาข้อกฎหมายหรือข้อเท็จจริงอันเป็นสาระสำคัญซึ่งผู้ร้องสอดมิได้รู้ว่ามีอยู่เช่นนั้น
               มาตรา ๑๔๒ คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลที่ชี้ขาดคดีต้องตัดสินตามข้อหาในคำฟ้องทุกข้อ แต่ห้ามมิให้พิพากษาหรือทำคำสั่งให้สิ่งใด ๆ เกินไปกว่าหรือนอกจากที่ปรากฏในคำฟ้อง เว้นแต่
               (๑) ในคดีฟ้องเรียกอสังหาริมทรัพย์ ให้พึ่งเข้าใจว่าเป็นประเภทเดียวกับฟ้องขอให้ขับไล่จำเลย ถ้าศาลพิพากษาให้โจทก์ชนะคดี เมื่อศาลเห็นสมควรศาลจะมีคำสั่งให้ขับไล่จำเลยก็ได้ คำสั่งเช่นว่านี้ให้ใช้ บังคับตลอดถึงวงศ์ญาติทั้งหลายและบริวารของจำเลยที่อยู่บนอสังหาริมทรัพย์นั้น ซึ่งไม่สามารถแสดงอำนาจพิเศษให้ศาลเห็นได้