คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๕๕๔๒/๒๕๖๑ 
               ศาลชั้นต้นพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานตามฟ้อง ลงโทษจำคุก ๒ เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทน การที่ศาลอุทธรณ์มีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุก ๑ เดือน เปลี่ยนโทษจำคุกเป็นกักขังแทนนั้น ศาลอุทธรณ์ยังพิพากษาว่า จำเลยมีความผิดฐานดังกล่าวตามฟ้องอยู่เพียงแต่ลงโทษแตกต่างไปจากศาลชั้นต้นเท่านั้น คำพิพากษาศาลอุทธรณ์จึงเป็นการพิพากษาแก้คำพิพากษาศาลชั้นต้น มิใช่พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น จึงต้องห้ามมิให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง และไม่ได้ให้อำนาจผู้พิพากษา ซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ฎีกาได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๒๑๙ ตรี และ ๒๒๑ ประกอบ พ.ร.บ.จัดตั้งศาลแขวงและ วิธีพิจารณาความอาย แขวง พ.ศ.๒๔๙๙ มาตรา ๔ และ พ.ร.บ. ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ. ๒๕๒๐ มาตรา ๓ ที่จำเลยฎีกาขอให้ลงโทษสถานเบาและรอการกำหนดโทษหรือรอการลงโทษจำคุกให้จำเลยนั้น เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง ต้องห้ามมิให้ฎีกาตามบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าว การที่ผู้พิพากษาซึ่งพิจารณาและลงชื่อในคำพิพากษาศาลชั้นต้นอนุญาตให้ จำเลยฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง จึงเป็นการมิชอบ

               ตามมาตรา ๒๑๙ ตรี มีลักษณะเป็นห้ามฎีกาและห้ามอนุญาตให้ฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยเด็ดขาด

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๒๑๙ ตรี ในคดีที่ศาลชั้นต้นลงโทษกักขังแทนโทษจำคุก หรือเปลี่ยนโทษกักขังเป็นโทษจำคุก หรือคดีที่เกี่ยวกับการกักขังแทนค่าปรับ หรือกักขังเกี่ยวกับการริบทรัพย์สิน ถ้าศาลอุทธรณ์ มิได้พิพากษากลับคำพิพากษาศาลชั้นต้น ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง
               มาตรา ๒๒๑ ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา ๒๑๘, ๒๑๙ และ ๒๒๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป