คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๙๓๙/๒๕๖๑
               โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่นตาม ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่า จำเลยถูกผู้ตายข่มเหงอย่างร้ายแรงด้วยเหตุอันไม่เป็นธรรมจึงกระทำความผิดต่อผู้ตาย อันเป็นการกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ ศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เห็นพ้องกับคำวินิจฉัยของศาลชั้นต้นที่ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานฆ่าผู้อื่นโดยบันดาลโทสะ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ประกอบมาตรา ๗๒ เท่ากับว่าศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาค ๙ พิพากษายกฟ้องในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ฎีกาของโจทก์ร่วมทั้งสองที่ ขอให้ลงโทษจำเลยในความผิดฐานฆ่าผู้อื่น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒๘๘ ตามฟ้อง โดยอ้างว่าการกระทำของจำเลยมิใช่การกระทำความผิดโดยบันดาลโทสะ จึงเป็นการฎีกาขอให้ลงโทษจำเลยในข้อหาความผิดที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์ภาคพิพากษายกฟ้อง ต้องห้ามมิให้คู่ความฎีกา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๒๐
               คดีส่วนแพ่งที่โจทก์ร่วมทั้งสองฎีกาขอให้จำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วมทั้งสอง โดยโจทก์ร่วมทั้งสองไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาพร้อมฎีกา เมื่อศาลฎีกามีคำสั่งไม่รับฎีกาในคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมทั้งสองแล้ว คดีไม่จำต้องวินิจฉัยฎีกาข้อนี้ของโจทก์ร่วมทั้งสอง

               ตามฎีกานี้ ข้อหาฆ่าผู้อื่นจำเลยให้การต่อสู้อ้างเหตุป้องกัน
               สำหรับคดีส่วนแพ่งการฎีกาต้องขออนุญาตฎีกาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๗

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๒๒๐ ห้ามมิให้คู่ความฎีกาในคดีที่ศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์พิพากษายกฟ้องโจทก์
               มาตรา ๒๒๑ ในคดีซึ่งห้ามฎีกาไว้โดยมาตรา ๒๑๔, ๒๑๕ และ ๒๒๐ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้พิพากษาคนใดซึ่งพิจารณา หรือลงชื่อในคำพิพากษาหรือทำความเห็นแย้งในศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์พิเคราะห์เห็นว่าข้อความที่ตัดสินนั้นเป็นปัญหาสำคัญอันควรสู่ศาลสูงสุดและอนุญาตให้ฎีกา หรืออธิบดีกรมอัยการลงลายมือชื่อรับรองในฎีกาว่ามีเหตุอันควรที่ศาลสูงสุดจะได้วินิจฉัย ก็ให้รับฎีกานั้นไว้พิจารณาต่อไป

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
               มาตรา ๒๔๗ การฎีกาคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ ให้กระทำได้เมื่อได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา
               การขออนุญาตฎีกา ให้ยื่นคำร้องพร้อมกับคำฟ้องฎีกาต่อศาลชั้นต้นที่มีคำพิพากษาหรือคำสั่งในคดีนั้นภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่ได้อ่านคำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลอุทธรณ์ แล้วให้ศาลชั้นต้นรีบส่งคำร้องพร้อมคำฟ้องฎีกาดังกล่าวไปยังศาลฎีกา และให้ศาลฎีกาพิจารณาวินิจฉัยคำร้องให้เสร็จสิ้นโดยเร็ว