ที่ดินพิพาทเดิมเป็นป่าสงวนแห่งชาติ แล้วกรมป่าไม้มอบให้สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จัดสรรให้เกษตรกรทำกินตามกฎหมาย หากโจทก์ซื้อที่ดินพิพาทมาจากบุคคลอื่นก็เป็นการซื้อขายที่ดินของรัฐ ไม่อาจอ้างสิทธิใช้ยันต่อรัฐได้ และหากประสงค์จะขอเข้ารับการจัดที่ดินต้องเข้าสู่กระบวนการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ วิธีการและเงื่อนไขในการคัดเลือกเกษตรกรเข้าถือครองและทำประโยชน์ในที่ดินตามที่คณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมกำหนด ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.๒๕๑๘ มาตรา ๑๙ (๗) และมาตรา ๓๖ ทวิ ประกอบกับระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม ฯ พ.ศ.๒๕๓๕ ซึ่งไม่แน่นอนว่าโจทก์จะได้รับการพิจารณาว่าเป็นเกษตรกรผู้มีสิทธิได้รับการจัดที่ดินรวมทั้งได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ หรือไม่ เพราะเจตนารมณ์ของบทบัญญัติแห่งกฎหมายมุ่งหมายในการจัดที่ดินให้แก่เกษตรกรผู้ไม่มีที่ดินของตนเองหรือมีที่ดินเล็กน้อยไม่เพียงพอแก่การครองชีพ แม้จะมีข้อผ่อนผันให้ผู้มีที่ดินจำนวนมากสามารถกระจายสิทธิให้แก่บุคคลอื่นได้ก็ตาม อีกทั้งที่ดินพิพาทมีการโต้แย้งการครอบครองระหว่างโจทก์และจำเลยซึ่งเคยเป็นสามีภริยากันและ ยังมิได้มีการออกเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ให้แก่ผู้ใด จึงเป็นกรณีที่จะต้องมีการพิจารณาต่อไปว่าผู้ใดอยู่ในฐานะที่จะได้รับเอกสารสิทธิ ส.ป.ก. ๔-๐๑ ที่อนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทที่อยู่ในเขตปฏิรูปที่ดิน ดังนั้น โจทก์จึงไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒ (๔) ไม่มีอำนาจฟ้องจำเลยความผิดฐานแจ้งความเท็จตามประมวลกฎหมายอาญา

               ตามฎีกานี้ คดีนี้ศาลชั้นต้นพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ตาม ป.อ.มาตรา ๑๓๗ (เดิม) ยกฟ้องสำหรับความผิดฐานแจ้งให้เจ้าพนักงานจดข้อความอันเป็นเท็จลงในเอกสารราชการ ตาม ป.อ.มาตรา ๒๖๗ จำเลยอุทธรณ์ ส่วนโจทก์ไม่อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์ภาค ๖ วินิจฉัยว่า โจทก์ไม่ใช่ผู้เสียหายทางอาญา ตาม ป.วิ.อ.มาตรา ๒ (๔) ไม่มีอำนาจฟ้องและพิพากษายกฟ้อง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๒ ในประมวลกฎหมายนี้
               (๔) “ผู้เสียหาย” หมายความถึงบุคคลผู้ได้รับความเสียหายเนื่องจากการกระทำผิดฐานใดฐานหนึ่ง รวมทั้งบุคคลอื่นที่มีอำนาจจัดการแทนได้ ดังบัญญัติไว้ในมาตรา ๔, ๕ และ ๖