การแย่งการครอบครอง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๓๗๕ วรรคสอง จะมีได้ก็แต่ในที่ดินของผู้อื่นเท่านั้น เมื่อจำเลยให้การว่าที่ดินพิพาทเป็นของจำเลยโดยจำเลยครอบครองมาตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ จนถึงปัจจุบัน อันแสดงให้เห็นว่าจำเลยเป็นเจ้าของครอบครองที่ดินพิพาทมาแต่ต้น โดยจำเลยไม่ได้กล่าวอ้างว่าแย่งการครอบครองมาจากผู้ใด คดีจึงไม่มีประเด็นข้อพิพาทว่าจำเลยแย่งการครอบครอง กรณีจึงไม่จำต้องวินิจฉัยว่า โจทก์ทั้งสองฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองเกินกว่า ๑ ปี นับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครองหรือไม่
              
               ตามฎีกานี้ จำเลยให้การว่า จำเลยเข้าครอบครองทำประโยชน์ในที่ดินพิพาทตั้งแต่ปี ๒๕๑๑ จึงเป็นการโต้แย้งสิทธิว่าได้แย่งการครอบครองที่ดินพิพาทแล้ว ซึ่งศาลอุทธรณ์ภาค ๖ วินิจฉัยว่า คำให้การของจำเลยไม่ก่อให้เกิดประเด็นเรื่องการแย่งการครอบครอง

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๗๗๔๒/๒๕๕๔ จำเลยให้การว่า จำเลยครอบครองที่ดินพิพาทเพราะผู้ร้องสอดซึ่งเป็นบิดายกให้และจำเลยได้ครอบครองทำประโยชน์ตลอดมา ส่วนผู้ร้องสอดร้องสอดว่า ครอบครองที่ดินพิพาทเพราะบิดายกให้ ผู้ร้องสอดทำประโยชน์ตลอดมาและแบ่งที่ดินพิพาทบางส่วนให้แก่จำเลยปลูกบ้านพักอาศัย เมื่อโจทก์ยื่นคำขอออกโฉนดที่ดิน จำเลยและผู้ร้องสอดคัดค้านจนเจ้าพนักงานที่ดินไม่ออกโฉนดที่ดินให้แก่โจทก์ โจทก์ฟ้องขอปลดเปลื้องการครอบครองเป็นเวลา ๑ ปี นับแต่วันที่ถูกแย่งการครอบครอง จึงเสียสิทธิในการฟ้องคดี ดังนี้ คดีไม่มีปัญหาเรื่องแย่งการครอบครอง เพราะการแย่งการครอบครองจะเกิดขึ้นได้ก็แต่เฉพาะที่ดินที่เป็นของผู้อื่น เมื่อจำเลยและผู้ร้องสอดอ้างว่าที่ดินพิพาทเป็นของตนเองและได้ครอบครองทำประโยชน์เอง จึงไม่เป็นการแย่งการครอบครองที่ดินจากโจทก์ การที่ศาลล่างทั้งสองวินิจฉัยว่า โจทก์ฟ้องคดีเกิน ๑ ปี นับแต่ถูกแย่งการครอบครอง จึงไม่มีสิทธิฟ้องเอาคืนการครอบครองตาม ป.พ.พ. มาตรา ๑๓๗๕ วรรคสอง


ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๓๗๕ ถ้าผู้ครอบครองถูกแย่งการครอบครองโดยมิชอบด้วยกฎหมายไซร้ท่านว่าผู้ครอบครองมีสิทธิจะได้คืนซึ่งการครอบครอง เว้นแต่อีกฝ่ายหนึ่งมีสิทธิเหนือทรัพย์สินดีกว่าซึ่งจะเป็นเหตุให้เรียกคืนจากผู้ครอบครองได้
               การฟ้องคดีเพื่อเอาคืนซึ่งการครอบครองนั้น ท่านว่าต้องฟ้องภายในปีหนึ่งนับแต่เวลาถูกแย่งการครอบครอง