ประเด็น ผู้รับโอนทรัพย์สินติดจำนอง

๑. รายละเอียดหนังสือขอไถ่ถอนจำนอง

๒. โจทก์ไม่ได้ฟ้องคดีภายในหนึ่งเดือนนับแต่ผู้รับโอนทรัพย์สินติดจำนองเสนอขอไถ่จำนอง และผู้รับโอนทรัพย์สินติดจำนองมิได้วางเงินไถ่จำนอง ณ สำนักงานวางทรัพย์ จะถือว่าสัญญาจำนองระงับสิ้นไปหรือไม่

๓. บทบัญญัติเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ของผู้รับโอนทรัพย์สินติดจำนอง

               ฎีกาที่ ๕๕๖๘/๒๕๖๒ จำเลยที่ ๒ มิได้เป็นลูกหนี้ชั้นต้นและมิใช่คู่สัญญาจำนองแก่โจทก์ แต่เป็นเพียงบุคคลภายนอกผู้รับโอนทรัพย์สินที่ติดจำนองมา จำเลยที่ ๒ มีหน้าที่เพียงปลดเปลื้องภาระจำนองด้วยการไถ่ถอนจำนอง การที่จำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงโจทก์ขอไถ่ถอนจำนองในวงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท โดยมีเอกสารแนบท้ายประกอบด้วยสำเนาสัญญาจำนอง สำเนาโฉนดที่ดินซึ่งระบุตำแหน่ง ลักษณะของทรัพย์สินที่จำนอง ชื่อเจ้าของเดิม ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน วันที่รับโอนกรรมสิทธิ์ รวมทั้งได้แจ้งความประสงค์จะไถ่ถอนจำนองให้จำเลยที่ ๑ ทราบแล้ว หนังสือแจ้งขอไถ่ถอนจำนองของจำเลยที่ ๒ จึงมีรายละเอียดครบถ้วนตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๘ แล้ว

               โจทก์ซึ่งเป็นเจ้าหนี้มีหนังสือปฏิเสธไม่รับชำระหนี้ตามที่จำเลยที่ ๒ ซึ่งเป็นผู้รับโอนทรัพย์สินซึ่งจำนองจะไถ่ถอนจำนองโดยมิได้ฟ้องคดีต่อศาลภายในกำหนดหนึ่งเดือนนับแต่วันที่จำเลยที่ ๒ มีคำเสนอเพื่อให้ศาลสั่งขายทอดตลาดทรัพย์ซึ่งจำนอง ถือว่าโจทก์ยอมรับคำเสนอขอไถ่จำนองของจำเลยที่ ๒ โดยปริยาย ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๓๙, ๗๔๑ แล้ว จำเลยที่ ๒ มีสิทธิไถ่จำนองได้ในวงเงิน ๕๐๐,๐๐๐ บาท ตามที่เสนอว่าจะใช้ แม้ต่อมาจำเลยที่ ๒ มีหนังสือถึงโจทก์นัดวัน เวลา สถานที่ชำระเงินเพื่อไถ่จำนองและโจทก์มิได้ไปตามนัดหมายก็ตาม แต่สัญญาจำนองจะระงับสิ้นไปก็ต่อเมื่อจำเลยที่ ๒ ใช้เงินแก่โจทก์ตามที่จำเลยที่ ๒ เสนอขอไถ่ถอนซึ่งสามารถไถ่ถอนจำนองได้ด้วยการวางเงินตามจำนวนที่เสนอขอไถ่ถอนต่อสำนักงานวางทรัพย์ ตามมาตรา ๗๔๑ ประกอบมาตรา ๓๓๑ เมื่อจำเลยที่ ๒ ยังมิได้ไถ่จำนอง สัญญาจำนองจึงยังไม่ระงับสิ้นไป

               บทบัญญัติประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๑, ๗๒๗ เป็นเรื่องสิทธิหน้าที่ของผู้ค้ำประกันหรือผู้จำนอง จำเลยที่ ๒ เป็นเพียงบุคคลภายนอกผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองซึ่งสิทธิหน้าที่ของ ผู้รับโอนทรัพย์สินโดยติดจำนองนั้นมีบทบัญญัติโดยเฉพาะตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๓ ลักษณะ ๑๒ หมวด ๕ จำเลยที่ ๒ ไม่อาจอ้างว่าสัญญาจำนองระงับสิ้นไปเพราะผู้จำนองหลุดพ้นตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๗๐๑, ๗๒๗ ประกอบมาตรา ๗๔๔(๓)

เพิ่มเติม

               ผู้รับโอนทรัพย์สินติดจำนอง จะขอไถ่ถอนจำนองจำต้องรับว่าจะใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น(มาตรา ๗๓๘ วรรคหนึ่ง) ซึ่งจำนวนเงินทันสมควรนั้นจะเป็นเท่าใดนั้นต้องพิจารณาจากราคาของทรัพย์พิพาทเป็นสำคัญ(ฎีกาที่ ๕๕๕๗/๒๕๖๑)

 

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

               มาตรา ๗๓๘ ผู้รับโอนซึ่งประสงค์จะไถ่ถอนจำนองต้องบอกกล่าวความประสงค์นั้นแก่ลูกหนี้ชั้นต้น และต้องส่งคำเสนอไปยังบรรดาเจ้าหนี้ที่ได้จดทะเบียน ไม่ว่าในทางจำนองหรือประการอื่น ว่าจะรับใช้เงินให้เป็นจำนวนอันสมควรกับราคาทรัพย์สินนั้น

               คำเสนอนั้นให้แจ้งข้อความทั้งหลายต่อไปนี้ คือ

               (๑) ตำแหน่งแหล่งที่และลักษณะแห่งทรัพย์สินซึ่งจำนอง

               (๒) วันซึ่งโอนกรรมสิทธิ์

               (๓) ชื่อเจ้าของเดิม

               (๔) ชื่อและภูมิลำเนาของผู้รับโอน

               (๕) จำนวนเงินที่เสนอว่าจะใช้

               (๖) คำนวณยอดจำนวนเงินที่ค้างชำระแก่เจ้าหนี้คนหนึ่ง ๆ รวมทั้งอุปกรณ์และจำนวนเงินที่จะจัดเป็นส่วนใช้แก่บรรดาเจ้าหนี้ตามลำดับกัน

               อนึ่ง ให้คัดสำเนารายงานจดทะเบียนของเจ้าพนักงานในเรื่องทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น อันเจ้าพนักงานรับรองว่าเป็นสำเนาถูกถ้วนสอดส่งไปด้วย

               มาตรา ๗๓๙ ถ้าเจ้าหนี้คนหนึ่งคนใดไม่ยอมรับคำเสนอ เจ้าหนี้คนนั้นต้องฟ้องคดีต่อศาลภายในเดือนหนึ่งนับแต่วันมีคำเสนอเพื่อให้ศาลพิพากษาสั่งขายทอดตลาดทรัพย์สินซึ่งจำนองนั้น แต่ว่าเจ้าหนี้นั้นจะต้องปฏิบัติการดังจะกล่าวต่อไปนี้ด้วย คือ

               (๑) ออกเงินทดรองค่าฤชาธรรมเนียมการขายทอดตลาด

               (๒) ต้องเข้าสู้ราคาเอง หรือแต่งคนเข้าสู้ราคาเป็นจำนวนเงินสูงกว่าที่ผู้รับโอนเสนอจะใช้

               (๓) บอกกล่าวการที่ตนไม่ยอมนั้นให้ผู้รับโอนและเจ้าหนี้คนอื่น ๆ บรรดาได้จดทะเบียน กับทั้งเจ้าของทรัพย์คนก่อนและลูกหนี้ชั้นต้นทราบด้วย