โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ โดยบรรยายฟ้องว่า จำเลยที่ ๑ เป็นพนักงานของโจทก์ มีหน้าที่รับผิดชอบควบคุมดูแลบริหารจัดการด้านการบริหารการเงิน วางแผนการดำเนินการรวมถึงงบประมาณของโจทก์ และรับผิดชอบงานอื่นตามที่โจทก์มอบหมายแล้วจำเลยที่ ๑ กระทำผิดหน้าที่ที่ได้รับมอบ โดยรับจัดงาน จัดกิจกรรมของการกีฬาแห่งประเทศไทยอันเป็นงานที่มีลักษณะเดียวกับกิจการของโจทก์  โดยกระทำในนามของจำเลยที่ ๓ ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่มีจำเลยที่ ๑ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน นั้น ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ บัญญัติว่า  “ผู้ใดได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของผู้อื่น หรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำความผิดหน้าที่ของตนด้วยประการใดๆ โดยทุจริต จนเป็นเหตุให้เกิดความเสียหายแก่ประโยชน์ในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินของผู้นั้น ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกพันบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ” ซึ่งเป็นบทบัญญัติที่คุ้มครองทรัพย์ของผู้ที่มอบหมาย การที่จำเลยที่ ๑ ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบงานต่างๆ ของโจทก์ตามฟ้องจึงมิใช่การได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์สินของโจทก์ ฟ้องของโจทก์จึงไม่ครบองค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๕๓ เป็นฟ้องที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๕๘
               
เพิ่มเติม
                คำว่า “ได้รับมอบหมาย” หมายความว่า ได้รับมอบอำนาจครอบครองเหนือทรัพย์นั้นโดยตรง ซึ่งผู้ได้รับมอบหมาย มีอำนาจเหนือทรัพย์สินนั้นโดยแท้จริง(สุปัน พูลพัฒน์)
                การได้รับมอบหมายนี้ เป็นการมอบหมายให้จัดการเกี่ยวกับทรัพย์สิน มิใช่เป็นเพียงมอบหมายให้ครอบครองเฉยๆ ดังมาตรา ๓๕๒
                ความผิดฐานยักยอกทรัพย์ตาม ป.อ.มาตรา ๓๕๒ ผู้กระทำผิดต้องเป็นผู้ครอบครองทรัพย์ซึ่งเป็นของผู้อื่น หรือผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย และได้เบียดบัง เอาทรัพย์เป็นของตนเองหรือบุคคลที่สามโดยทุจริต ส่วนความผิดตามมาตรา ๓๕๓ ผู้กระทำความผิดต้องเป็นผู้ที่ได้รับมอบหมายให้จัดการทรัพย์ของผู้อื่นหรือทรัพย์สินซึ่งผู้อื่นเป็นเจ้าของรวมอยู่ด้วย กระทำผิดหน้าที่ของตนโดยทุจริตจนทำให้เกิดความเสียหาย(ฎีกาที่ ๖๘๗๐/๒๕๔๑) 
อ้างอิง
สุปัน พูลพัฒน์. คำอธิบายเรียงมาตราประมวลกฎหมายอาญา,๒๕๐๖.