โจทก์ฟ้องว่าจำเลยกระทำความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า ขอให้ลงโทษตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ แต่ทางพิจารณาโจทก์นำสืบว่า จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหาย ด่าว่าและทวงเอกสารจากผู้เสียหาย ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายอยู่ที่สถานีบริการขนส่ง (บขส.) ตำบลท้ายช้าง อำเภอเมืองพังงา จังหวัดพังงา จำเลยอยู่ที่ส่วนบริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนที่ ๒  ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ซึ่งเป็นสถานที่ห่างไกลกันคนละอำเภอ แต่องค์ประกอบความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๙๓ นั้น ถ้าเป็นการกล่าวด้วยวาจา ผู้กระทำต้องกล่าวซึ่งหน้าผู้เสียหาย เพราะบทบัญญัติมาตรานี้มีเจตนารมณ์ป้องกันเหตุร้ายที่อาจเข้าถึงตัวกันทันทีที่มีการกล่าวดูหมิ่น ดังนั้น ข้อเท็จจริงที่โจทก์นำสืบจึงยังไม่เข้าองค์ประกอบความผิดฐานดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้า

ประมวลกฎหมายอาญา
                มาตรา ๓๙๓ ผู้ใดดูหมิ่นผู้อื่นซึ่งหน้าหรือด้วยการโฆษณา ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

ข้อเท็จจริง
                ขณะเกิดเหตุผู้เสียหายและจำเลยทำงานที่สถานีพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 18 (บางวัน พังงา) ผู้เสียหายเป็นลูกจ้างตำแหน่งเจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูล ส่วนจำเลยเป็นเจ้าพนักงานป่าไม้ 5 ทำหน้าที่ผู้ช่วยหัวหน้าสถานี ในวันเวลาและสถานที่เกิดเหตุตามฟ้อง จำเลยโทรศัพท์ไปหาผู้เสียหายเพื่อทวงถามเอกสารจากผู้เสียหาย

หมายเหตุ
                ตามกฎหมายเยอรมัน ความผิดฐานดูหมิ่นซึ่งหน้า มีสิ่งที่กฎหมายประสงค์จะคุ้มครองคือเกียรติ
                การดูหมิ่นหมายถึง “การทำลายเกียรติของผู้อื่นด้วยการที่ผู้กระทำแสดงออกให้เห็นถึงการดูถูกเหยียดหยามหรือการไม่เคารพ ซึ่งการแสดงออกดังกล่าวอาจกระทำเป็นคำพูด ข้อเขียน รูปภาพ ท่าทางหรือการกระทำนำนองสัญลักษณ์ก็ได้”
                เมื่อมีการดูหมิ่นออกมาแล้วผู้ถูกดูหมิ่นจะอยู่ในที่เกิดเหตุหรือไม่ ไม่ใช่ข้อสาระสำคัญหากแต่ผู้ถูกดูหมิ่นรับรู้ถึงการดูหมิ่นดังกล่าวหรือไม่ เพราะความผิดฐานดูหมิ่นคุ้มครองเกียรติ

อ้างอิง
สุรสิทธิ์ แสงวิโรจนพัฒน์, วิเคราะห์คำพิพากษาศาลฎีกาด้วยหลักกฎหมายเยอรมันกรุงเทพมหานคร: สำนักพิมพ์เจริญรัฐการพิมพ์, 2558.