โจทก์ฟ้องว่าจำเลยเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมาย  และมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต แม้ความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายซึ่งอยู่ในอำนาจการพิจารณาของศาลแขวง เป็นความผิดคนละกรรมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตก็ตาม แต่ความผิดทั้งสองฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกันและเกี่ยวกันกันจึงเป็นกรณีความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกัน โจทก์มีอำนาจฟ้องจำเลยในความผิดฐานเสพเมทแอมเฟตามีนโดยฝ่าฝืนต่อกฎหมายพร้อมกับความผิดฐานมีเมทแอมเฟตามีนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาตโดยไม่ต้องขอผัดฟ้องตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๔ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ กรณีไม่ต้องด้วยพระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๒๐ มาตรา ๓ และมาตรา ๔
                แม้ศาลชั้นต้นมีคำสั่งให้ส่งตัวจำเลยไปควบคุมเพื่อรับการตรวจพิสูจน์การเสพหรือการติดยาเสพติดและต่อมาคณะอนุกรรมการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดมีคำสั่งงดการตรวจพิสูจน์และแจ้งส่งตัวจำเลยคืนเนื่องจากจำเลยถูกดำเนินคดีในความผิดฐานอื่นก็ตาม แต่ขณะยื่นฟ้องคดีนี้จำเลยถูกฟ้องต่อศาลชั้นต้นและถูกคุมขังอยู่ในคดีดังกล่าวต้องถือว่าจำเลยอยู่ในอำนาจศาลแล้ว และพนักงานสอบสวนไม่ได้ขออำนาจศาลฝากขังจำเลยในคดีนี้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๘๗ ประกอบพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐ มาตรา ๓ ก็ตาม ก็หาเป็นเหตุทำให้โจทก์ไม่มีอำนาจฟ้องคดีนี้ไม่

ข้อเท็จจริง
                โจทก์ฟ้องและมีคำขอให้นับโทษจำเลยต่อจากโทษของจำเลยในคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๑๐/๒๕๕๗ และคดีอาญาหมายเลขดำที่ ๑๒๑๑/๒๕๕๗ ของศาลชั้นต้น ซึ่งจำเลยถูกคุมขังอยู่ในคดีดังกล่าว
                คดีนี้ ศาลชั้นต้นพิพากษายกฟ้อง ศาลอุทธรณ์แผนกคดียาเสพติดพิพากษายืน โจทก์ฎีกาโดยได้รับอนุญาตจากศาลฎีกา ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลล่างทั้งสอง ให้ศาลชั้นต้นประทับฟ้องโจทก์แล้วดำเนินกระบวนพิจารณาใหม่ต่อไปตามรูปคดี

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
                มาตรา ๒๔  เมื่อความผิดหลายเรื่องเกี่ยวพันกันโดยเหตุหนึ่งเหตุใด เป็นต้นว่า
                (๑) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยผู้กระทำผิดคนเดียวกัน หรือผู้กระทำผิดหลายคนเกี่ยวพันกันในการกระทำความผิดฐานหนึ่งหรือหลายฐาน จะเป็นตัวการ ผู้สมรู้หรือรับของโจรก็ตาม
                (๒) ปรากฏว่าความผิดหลายฐานได้กระทำลงโดยมีเจตนาอย่างเดียวกัน หรือโดยผู้กระทำผิดทั้งหลายได้คบคิดกันมาแต่ก่อนแล้ว
                (๓) ปรากฏว่าความผิดฐานหนึ่งเกิดขึ้นโดยมีเจตนาช่วยผู้กระทำผิดอื่นให้พ้นจากรับโทษในความผิดอย่างอื่นซึ่งเขาได้กระทำไว้
                ดังนี้จะฟ้องคดีทุกเรื่อง หรือฟ้องผู้กระทำความผิดทั้งหมดต่อศาลซึ่งมีอำนาจชำระในฐานความผิดซึ่งมีอัตราโทษสูงกว่าไว้ก็ได้
                ถ้าความผิดอันเกี่ยวพันกันมีอัตราโทษอย่างสูงเสมอกัน ศาลซึ่งมีอำนาจชำระ ก็คือศาลซึ่งรับฟ้องเรื่องหนึ่งเรื่องใดในความผิดเกี่ยวพันกันนั้นไว้ก่อน
                มาตรา ๘๗ ห้ามมิให้ควบคุมผู้ถูกจับไว้เกินกว่าจำเป็นตามพฤติการณ์แห่งคดี
ในกรณีความผิดลหุโทษ จะควบคุมผู้ถูกจับไว้ได้เท่าเวลาที่จะถามคำให้การ และที่จะรู้ตัวว่าเป็นใครและที่อยู่ของเขาอยู่ที่ไหนเท่านั้น
                ในกรณีที่ผู้ถูกจับไม่ได้รับการปล่อยชั่วคราว และมีเหตุจำเป็นเพื่อทำการสอบสวน หรือการฟ้องคดี ให้นำตัวผู้ถูกจับไปศาลภายในสี่สิบแปดชั่วโมงนับแต่เวลาที่ผู้ถูกจับถูกนำตัวไปถึงที่ทำการของพนักงานสอบสวนตามมาตรา ๘๓ เว้นแต่มีเหตุสุดวิสัยหรือมีเหตุจำเป็นอย่างอื่นอันมิอาจก้าวล่วงเสียได้ โดยให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการยื่นคำร้องต่อศาลขอหมายขังผู้ต้องหานั้นไว้ ให้ศาลสอบถามผู้ต้องหาว่าจะมีข้อคัดค้านประการใดหรือไม่ และศาลอาจเรียกพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการมาชี้แจงเหตุจำเป็น หรืออาจเรียกพยานหลักฐานมาเพื่อประกอบการพิจารณาก็ได้
                ในกรณีความผิดอาญาที่ได้กระทำลงมีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังได้ครั้งเดียว มีกำหนดไม่เกินเจ็ดวัน
                ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงเกินกว่าหกเดือนแต่ไม่ถึงสิบปี หรือปรับเกินกว่าห้าร้อยบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินสี่สิบแปดวัน
                ในกรณีความผิดอาญาที่มีอัตราโทษจำคุกอย่างสูงตั้งแต่สิบปีขึ้นไป จะมีโทษปรับด้วยหรือไม่ก็ตาม ศาลมีอำนาจสั่งขังหลายครั้งติด ๆ กันได้ แต่ครั้งหนึ่งต้องไม่เกินสิบสองวัน และรวมกันทั้งหมดต้องไม่เกินแปดสิบสี่วัน
                ในกรณีตามวรรคหกเมื่อศาลสั่งขังครบสี่สิบแปดวันแล้ว หากพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอขังต่อไปอีกโดยอ้างเหตุจำเป็น ศาลจะสั่งขังต่อไปได้ก็ต่อเมื่อพนักงานอัยการหรือพนักงานสอบสวนได้แสดงถึงเหตุจำเป็น และนำพยานหลักฐานมาให้ศาลไต่สวนจนเป็นที่พอใจแก่ศาล
                ในการไต่สวนตามวรรคสามและวรรคเจ็ด ผู้ต้องหามีสิทธิแต่งทนายความเพื่อแถลงข้อคัดค้านและซักถามพยาน ถ้าผู้ต้องหาไม่มีทนายความเนื่องจากยังไม่ได้มีการปฏิบัติตามมาตรา ๑๓๔/๑ และผู้ต้องหาร้องขอ ให้ศาลตั้งทนายความให้ โดยทนายความนั้นมีสิทธิได้รับเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๑๓๔/๑ วรรคสาม โดยอนุโลม
                ถ้าพนักงานสอบสวนต้องไปทำการสอบสวนในท้องที่อื่นนอกเขตของศาลซึ่งได้สั่งขังผู้ต้องหาไว้ พนักงานสอบสวนจะยื่นคำร้องขอให้โอนการขังไปยังศาลในท้องที่ที่จะต้องไปทำการสอบสวนนั้นก็ได้ เมื่อศาลที่สั่งขังไว้เห็นเป็นการสมควรก็ให้สั่งโอนไป

พระราชบัญญัติให้นำวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัด พ.ศ.๒๕๒๐
                มาตรา ๓ ในท้องที่ซึ่งยังมิได้มีศาลแขวงเปิดทำการ ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับในศาลจังหวัดสำหรับคดีอาญาที่มีอัตราโทษอย่างสูงตามที่กฎหมายกำหนดไว้ให้จำคุกไม่เกินสามปี หรือปรับไม่เกินหกหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
                มาตรา ๔ ในกรณีที่ศาลจังหวัด ศาลอาญาหรือศาลอาญาธนบุรียอมรับคดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลแขวงไว้พิจารณาพิพากษาตามบทบัญญัติมาตรา ๑๔ แห่งพระธรรมนูญศาลยุติธรรม ให้นำวิธีพิจารณาความอาญาตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวงมาใช้บังคับสำหรับคดีดังกล่าว

พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด พ.ศ.๒๕๕๐
                มาตรา ๓ บทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาใดซึ่งพระราชบัญญัตินี้มิได้บัญญัติไว้โดยเฉพาะ ให้นำบทบัญญัติหรือวิธีพิจารณาแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลเยาวชนและครอบครัวและวิธีพิจารณาคดีเยาวชนและครอบครัว กฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาความอาญาในศาลแขวง หรือกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร มาใช้บังคับเท่าที่ไม่ขัดหรือแย้งกับพระราชบัญญัตินี้

#คำพิพากษาฎีกาที่ 4487/2560