จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยไม่ได้ยื่นคำร้องเสียก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน ตามคำให้การของจำเลยทั้งสองสำนวนอ้างเหตุขาดอายุความ ๒ ปี นับแต่วันครบกำหนดหนี้ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลในแต่ละคราว แต่ที่ขอแก้ไขคำให้การใหม่เป็นว่า ค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลค้างชำระเกินระยะเวลาสิทธิเรียกร้อง ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๙๓/๓๓ หรือมาตรา ๑๙๓/๓๔ ซึ่งหมายถึงอายุความ ๕ ปี และ ๒ ปี ตามลำดับ อันเป็นการเพิ่มเติมคำให้การขึ้นใหม่แยกเป็นประเด็นตามเงื่อนไขของสองอนุมาตราดังกล่าว แม้จะอยู่ในประเด็นอายุความก็ตาม แต่วันที่โจทก์ฟ้องจำเลยทั้งสองสำนวนก็ได้บรรยายถึงจำนวนหนี้ที่ค้างชำระแต่ละลายไว้ชัดเจน จำเลยย่อมทราบดี หากประสงค์จะต่อสู้ในประเด็นอายุความเรื่องใดก็สามารถกระทำได้ตั้งแต่แรก แต่หาได้กระทำไม่ คงปล่อยให้ล่วงเลยเวลาจนพ้นกำหนดเวลาแล้วจึงยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การว่า คดีของโจทก์ขาดอายุความ ๕ ปี และ ๒ ปี ตามประเภทของหนี้ที่ค้างชำระแต่ละรายการ ลักษณะเป็นการตั้งประเด็นเรื่องขาดอายุความขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ มิใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยและมิใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งประเด็นเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองสำนวนจึงไม่ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐ แม้จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การมาแล้วครั้งหนึ่ง ศาลจะมีคำสั่งอนุญาต ต่อมาวันรุ่งขึ้นจำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การขึ้นอีกฉบับหนึ่ง โจทก์รับสำเนาคำร้องทั้งสองฉบับแล้วไม่คัดค้าน ศาลชั้นต้นจึงมีคำสั่งเพิกถอนคำสั่งเดิมในคำร้องฉบับแรกแล้วสั่งใหม่ว่ายกคำร้อง ส่วนคำร้องฉบับหลังสั่งว่าไม่อนุญาตให้แก้ไขคำให้การ การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตครั้งแรกเป็นการไม่ชอบ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิกถอนคำสั่งอันมิชอบได้ การที่โจทก์ไม่คัดค้านแล้วจะถือว่าเป็นการยอมรับหรือให้สัตยาบันแก่การพิจารณาที่ผิดระเบียบหาได้ไม่ ตราบใดที่เป็นการดำเนินกระบวนพิจารณามิชอบ ซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลชอบที่จะแก้ไขให้ถูกต้องได้
                จำเลยทั้งสองสำนวนฎีกาคำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสำนวนแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘(๓) จำเลยทั้งสองสำนวนต้องเสียค่าขึ้นศาลอย่างคดีไม่มีทุนทรัพย์สำนวนละ ๒๐๐ บาท รวม ๔๐๐ บาท จำเลยทั้งสองสำนวนเสียค่าขึ้นศาลชั้นฎีกา ๖๐๐ บาท เกินมา ๒๐๐ บาท จึงต้องคืนให้แก่จำเลยทั้งสองสำนวน
               
ข้อเท็จจริง
                ข้อเท็จจริงเบื้องต้นรับฟังได้ว่าคดีทั้งสองสำนวนศาลชั้นต้นนัดสืบพยานโจทก์นัดแรกวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ สืบพยานโจทก์ปากแรกยังไม่แล้วเสร็จ จึงเลื่อนไปนัดสืบพยานโจทก์ในวันที่ ๑๘ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ เวลา ๙ นาฬิกา ครั้นถึงวันนัด จำเลยทั้งสองสำนวนยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การโดยไม่ได้ยื่นคำร้องเสียก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน
               
ข้อสังเกต
                จำเลยทั้งสองสำนวนมิได้ขอแก้ไขคำให้การก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่า ๗ วัน

หลักกฎหมาย
                การตั้งประเด็นเรื่องขาดอายุความขึ้นมาใหม่ทั้งฉบับ มิใช่เป็นการแก้ไขรายละเอียดเล็กน้อยและมิใช่กรณีมีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้น อีกทั้งประเด็นเรื่องอายุความไม่ใช่ปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย จำเลยทั้งสองสำนวนจึงไม่ชอบที่จะยื่นคำร้องขอแก้ไขคำให้การตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๘๐
                การที่ศาลชั้นต้นสั่งอนุญาตครั้งแรกเป็นการไม่ชอบ ซึ่งเป็นปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ย่อมมีอำนาจสั่งแก้ไขเพิกถอนคำสั่งอันมิชอบได้
                คำสั่งศาลชั้นต้นที่ไม่อนุญาตให้จำเลยทั้งสองสำนวนแก้ไขเพิ่มเติมคำให้การ อันเป็นคำสั่งไม่รับคำคู่ความ ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๒๘(๓)

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๒๗ ในกรณีที่มิได้ปฏิบัติตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายนี้ในข้อที่มุ่งหมายจะยังให้การเป็นไปด้วยความยุติธรรม หรือที่เกี่ยวด้วยความสงบเรียบร้อยของประชาชนในเรื่องการเขียน และการยื่นหรือการส่งคำคู่ความหรือเอกสารอื่น ๆ หรือในการพิจารณาคดี การพิจารณาพยานหลักฐาน หรือการบังคับคดี เมื่อศาลเห็นสมควรหรือเมื่อคู่ความฝ่ายที่เสียหายเนื่องจากการที่มิได้ปฏิบัติเช่นว่านั้นยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะสั่งให้เพิกถอนการพิจารณาที่ผิดระเบียบนั้นเสียทั้งหมดหรือบางส่วน หรือสั่งแก้ไขหรือมีคำสั่งในเรื่องนั้นอย่างใดอย่างหนึ่ง ตามที่ศาลเห็นสมควร
                ข้อค้านเรื่องผิดระเบียบนั้น คู่ความฝ่ายที่เสียหายอาจยกขึ้นกล่าวได้ไม่ว่าในเวลาใด ๆ ก่อนมีคำพิพากษา แต่ต้องไม่ช้ากว่าแปดวันนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นได้ทราบข้อความหรือพฤติการณ์อันเป็นมูลแห่งข้ออ้างนั้น แต่ทั้งนี้คู่ความฝ่ายนั้นต้องมิได้ดำเนินการอันใดขึ้นใหม่หลังจากที่ได้ทราบเรื่องผิดระเบียบแล้ว หรือต้องมิได้ให้สัตยาบันแก่การผิดระเบียบนั้น ๆ
                ถ้าศาลสั่งให้เพิกถอนกระบวนพิจารณาที่ผิดระเบียบใด ๆ อันมิใช่เรื่องที่คู่ความละเลยไม่ดำเนินกระบวนพิจารณาเรื่องนั้นภายในระยะเวลาซึ่งกฎหมายหรือศาลกำหนดไว้ เพียงเท่านี้ไม่เป็นการตัดสิทธิคู่ความฝ่ายนั้น ในอันที่จะดำเนินกระบวนพิจารณานั้น ๆ ใหม่ให้ถูกต้องตามที่กฎหมายบังคับ
                มาตรา ๑๘๐ การแก้ไขคำฟ้องหรือคำให้การที่คู่ความเสนอต่อศาลไว้แล้ว ให้ทำเป็นคำร้องยื่นต่อศาลก่อนวันชี้สองสถาน หรือก่อนวันสืบพยานไม่น้อยกว่าเจ็ดวัน ในกรณีที่ไม่มีการชี้สองสถาน เว้นแต่มีเหตุอันสมควรที่ไม่อาจยื่นคำร้องได้ก่อนนั้นหรือเป็นการขอแก้ไขในเรื่องที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อยของประชาชน หรือเป็นการแก้ไขข้อผิดพลาดเล็กน้อยหรือข้อผิดหลงเล็กน้อย
                มาตรา ๒๒๘ ก่อนศาลชี้ขาดตัดสินคดี ถ้าศาลมีคำสั่งอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้ คือ
                (๓) ไม่รับหรือคืนคำคู่ความตามมาตรา ๑๘ หรือวินิจฉัยชี้ขาดเบื้องต้นตามมาตรา ๒๔ ซึ่งมิได้ทำให้คดีเสร็จไปทั้งเรื่อง หากเสร็จไปเฉพาะแต่ประเด็นบางข้อ
                คำสั่งเช่นว่านี้ คู่ความย่อมอุทธรณ์ได้ภายในกำหนดหนึ่งเดือน นับแต่วันมีคำสั่งเป็นต้นไป
                แม้ถึงว่าจะมีอุทธรณ์ในระหว่างพิจารณา ให้ศาลดำเนินคดีต่อไป และมีคำพิพากษาหรือคำสั่งชี้ขาดตัดสินคดีนั้น แต่ถ้าในระหว่างพิจารณา คู่ความอุทธรณ์คำสั่งชนิดที่ระบุไว้ในอนุมาตรา (๓) ถ้าศาลอุทธรณ์เห็นว่า การกลับหรือแก้ไขคำสั่งที่คู่ความอุทธรณ์นั้น จะเป็นการวินิจฉัยชี้ขาดคดี หรือวินิจฉัยชี้ขาดประเด็นข้อใดที่ศาลล่างมิได้วินิจฉัยไว้ ให้ศาลอุทธรณ์มีอำนาจทำคำสั่งให้ศาลล่างงดการพิจารณาไว้ในระหว่างอุทธรณ์ หรืองดการวินิจฉัยคดีไว้จนกว่าศาลอุทธรณ์จะได้วินิจฉัยชี้ขาดอุทธรณ์นั้น
                ถ้าคู่ความมิได้อุทธรณ์คำสั่งในระหว่างพิจารณาตามที่บัญญัติไว้ในมาตรานี้ ก็ให้อุทธรณ์ได้ในเมื่อศาลพิพากษาคดีแล้วตามความในมาตรา ๒๒๓