โจทก์บรรยายฟ้องว่า โจทก์รับประกันภัยรถยนต์จาก พ. ประเภทรับผิดโดยสิ้นเชิง และรถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายจนต้องเสียค่าซ่อมเป็นเงิน ๒๙๗,๐๐๐ บาท  เป็นการบรรยายฟ้องโดยครบถ้วนแล้วว่าโจทก์เป็นผู้รับประกันภัยรถยนต์จาก พ. ประเภทรับผิดชอบโดยสิ้นเชิงทั้งรถยนต์คันดังกล่าวได้รับความเสียหายจากการชนของรถยนต์ของจำเลยที่มี ก. เป็นผู้ขับ โจทก์จึงต้องนำไปซ่อมตามสัญญาประกันภัยที่มีทั้งค่าลากรถยนต์ไปซ่อม และค่าซ่อมซึ่งประกอบด้วยค่าแรง ค่าอะไหล่ ตลอดจนชิ้นส่วนต่างๆ ที่ต้องซ่อม ซึ่งเห็นได้ว่าโจทก์ได้บรรยายถึงความเสียหายของรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้ชัดแจ้งแล้ว ส่วนรายละเอียดของความเสียหายของการซ่อม เปลี่ยนอะไหล่ รวมทั้งค่าแรงนั้นก็เป็นเพียงรายละเอียดที่จะสามารถนำสืบได้ในชั้นพิจารณา ประกอบกับเอกสารท้ายฟ้องโจทก์ได้ส่งพร้อมคำฟ้องตามเอกสารท้ายฟ้องก็เป็นเพียงรายละเอียดเกี่ยวกับการเปลี่ยนอะไหล่ การซ่อมและค่าแรงในการซ่อม เอกสารดังกล่าวนี้ ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของคำฟ้อง ซึ่งจำเลยสามารถตรวจรายละเอียดเกี่ยวกับการซ่อมรถได้โดยง่าย เช่นนี้ จึงเห็นได้ว่าฟ้องโจทก์ได้แสดงโดยชัดแจ้ง ซึ่งสภาพแห่งข้อหา และคำขอบังคับ ทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๑๗๒ วรรคสอง แล้ว ฟ้องโจทก์จึงไม่เคลือบคลุม
                การที่ ก. ไม่สามารถควบคุมรถยนต์ของจำเลยได้ มีสาเหตุมาจากการขับรถยนต์ด้วยความเร็วสูง เมื่อยางรถยนต์ล้อหน้าด้านขวาระเบิดได้รับความเสียหายทำให้ ก. ไม่สามารถควบคุมรถให้อยู่ในช่องทางเดินรถของตนได้และไม่สามารถชะลอความเร็วของรถได้ทัน ทำให้เสียหลักพุ่งข้ามร่องกลางถนนเข้าไปชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัย ถือว่าเป็นความประมาทของ ก. นอกจากนี้ การที่ยางรถยนต์ล้อหน้าด้านขวาของจำเลยระเบิดได้ความเสียหายนั้น ไม่ถือว่าเป็นเหตุสุดวิสัย เพราะก่อนขับรถ ก. สามารถตรวจสอบสภาพยางรถยนต์ได้ว่าอยู่ในสภาพดีหรือไม่ การที่ ก. ไม่ตรวจสภาพยางรถยนต์เสียก่อนนำรถมาขับไปยังที่เกิดเหตุ เช่นนี้  จึงไม่อาจถือได้ว่าเป็นเหตุสุดวิสัย ประกอบกับ ก. ก็ให้การรับสารภาพในคดีอาญาว่าขับรถโดยประมาทเป็นเหตุให้ผู้อื่นได้รับบาดเจ็บสาหัส และศาลแขวงอุดรธานีก็ได้พิพากษาลงโทษ ก. ไปแล้ว การที่ ก. ขับรถยนต์ของจำเลยไปชนกับรถยนต์ที่โจทก์รับประกันภัยไว้เกิดจากความประมาทของ ก.


จำเลยฎีกาในข้อแรกว่าฟ้องโจทก์เคลือบคลุม
                โดยจำเลยฎีกาว่าโจทก์บรรยายฟ้องเกี่ยวกับการรับประกันภัยรถยนต์จาก พ. ไม่ชัดแจ้งเพราะมิได้บรรยายรายละเอียดตามกรมธรรม์ประกันภัย โดยโจทก์บรรยายฟ้องเพียงว่าจะนำเสนอในชั้นพิจารณาคดี ทำให้จำเลยไม่สามารถเข้าใจฟ้องที่โจทก์กล่าวอ้างถึงประเภทความรับผิดความเสียหายโดยสิ้นเชิงนั้น เป็นอย่างไร ทั้งเรื่องค่าเสียหายโจทก์ไม่ได้บรรยายฟ้องเกี่ยวกับรายละเอียดของความเสียหายจึงทำให้จำเลยไม่สามารถให้การแก้คดีได้

เพิ่มเติม
                ฎีกาที่ ๘๒๘/๒๔๙๐ ยานพาหนะที่เดินด้วยกำลังเครื่องจักรกลด้วยกันโดนกันเสียหาย ไม่อยู่ในบังคับแห่งมาตรา ๔๓๗ ในกรณีนี้หน้าที่นำสืบตกอยู่ในหลักธรรมดา ฝ่ายที่กล่าวหาอีกฝ่ายหนึ่งทำละเมิด ต้องนำสืบก่อน
                กรณีความเสียหายเกิดจากยานพาหนะอันเดินด้วยเครื่องจักรกลเหมือนกันให้ใช้มาตรา ๔๒๐ ไม่ใช้มาตรา ๔๓๗ ซึ่งศาลฎีกาก็ได้ถือแนวนี้เป็นบรรทัดฐานมาโดยตลอด(เพ็ง เพ็งนิติ)
                ฎีกาที่ ๔๓๖-๔๓๗/๒๕๕๙ จำเลยและ ป. ขับรถเฉี่ยวชนกัน ทำให้ผู้ตายถึงแก่ความตายและทำให้ทรัพย์สินของผู้ตายได้รับความเสียหาย ดังนั้นจำเลยและ ป. จึงเป็นผู้ครอบครองหรือเป็นผู้ควบคุมดูแลยานพาหนะอันเดินด้วยกำลังเครื่องจักรกล โดยผู้ตายไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรกลที่ก่อให้เกิดความเสียหายด้วย จำเลยและ ป. จึงต้องรับผิดเพื่อการเสียหายอันเกิดจากยานพาหนะนั้น เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าเกิดจากเหตุสุดวิสัยหรือเป็นเพราะความผิดของผู้เสียหายนั้นเองตามมาตรา ๔๓๗ วรรคหนึ่ง
                ฎีกาข้างต้นนี้ได้วางหลักกฎหมายชัดเจนว่า ผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากข้อสันนิษฐานของมาตรา ๔๓๗ วรรคหนึ่ง จะต้องไม่มีส่วนในการควบคุมหรือครอบครองเครื่องจักรคนนั้นด้วย(เพ็ง เพ็งนิติ)
                เหตุยกเว้นความรับผิดตามมาตรา ๔๓๗ กฎหมายให้ผู้ครอบครองหรือควบคุมดูแลยานพาหนะต้องรับผิด ซึ่งฝ่ายยานพาหนะมีภาระพิสูจน์ หากพิสูจน์ไม่ได้ต้องแพ้คดีคือต้องพิสูจน์ว่าความเสียหายเกิดแต่เหตุสุดวิสัยหรือความผิดของผู้เสียหายเอง จะนำสืบว่าตนไม่ได้ประมาทเลินเล่อไม่ได้
                เหตุสุดวิสัยตามมาตรา ๘ หมายความว่า เหตุธรรมชาติที่นอกเหนืออำนาจของมนุษย์ที่ไม่อาจป้องกันได้
                การที่ห้ามล้อเท้าของรถยนต์เกิดใช้การไม่ได้ขณะขับเป็นเหตุให้รถยนต์ชนรถยนต์สามล้อไม่ใช่เหตุสุดวิสัยเพราะยังอยู่ในวิสัยที่ผู้ขับอาจป้องกันได้หากใช้ความระมัดระวังตามสมควรโดยตรวจดูสภาพรถให้เรียบร้อยก่อนขับ(ฎีกาที่ ๑๗๔/๒๕๒๘)

อ้างอิง
เพ็ง เพ็งนิติ. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ว่าด้วย ละเมิด พระราชบัญญัติความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ ๒๕๓๙ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ ฉบับปรับปรุงใหม่. กรุงเทพมหานคร, ๒๕๖๐

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๘  คำว่า เหตุสุดวิสัยหมายความว่า เหตุใด ๆ อันจะเกิดขึ้นก็ดี จะให้ผลพิบัติก็ดี เป็นเหตุที่ไม่อาจป้องกันได้แม้ทั้งบุคคลผู้ต้องประสบหรือใกล้จะต้องประสบเหตุนั้นจะได้จัดการระมัดระวังตามสมควรอันพึงคาดหมายได้จากบุคคลในฐานะและภาวะเช่นนั้น
                มาตรา ๔๒๐ ผู้ใดจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำต่อบุคคลอื่นโดยผิดกฎหมายให้เขาเสียหายถึงแก่ชีวิตก็ดี แก่ร่างกายก็ดี อนามัยก็ดี เสรีภาพก็ดี ทรัพย์สินหรือสิทธิอย่างหนึ่งอย่างใดก็ดี ท่านว่าผู้นั้นทำละเมิดจำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
               
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๑๗๒ ภายใต้บังคับบทบัญญัติมาตรา ๕๗ ให้โจทก์เสนอข้อหาของตนโดยทำเป็นคำฟ้องเป็นหนังสือยื่นต่อศาลชั้นต้น
                คำฟ้องต้องแสดงโดยแจ้งชัดซึ่งสภาพแห่งข้อหาของโจทก์และคำขอบังคับทั้งข้ออ้างที่อาศัยเป็นหลักแห่งข้อหาเช่นว่านั้น