คำพิพากษาฎีกาที่ ๒๕๔๔/๒๕๖๔ 

               ในคดีส่วนอาญาศาลชั้นต้นวินิจฉัยว่าผู้เสียหายมีส่วนประมาท โดยขับรถจักรยานยนต์ด้วยความเร็วสูงในขณะที่ฝนตกหนักท้องฟ้ามืด และถนนลื่น ทำให้ไม่อาจหยุดรถหรือสามารถหักเลี้ยวหลบรถกระบะ ของจำเลยได้ทันเป็นเหตุให้รถเกิดการชนกันด้วย จึงไม่ใช่ผู้เสียหายโดยนิตินัย บิดาของผู้เสียหายย่อมไม่มีอำนาจจัดการแทนผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๕ (๒) ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของบิดาผู้เสียหาย ซึ่งโจทก์ร่วมมิได้อุทธรณ์โต้แย้งคำพิพากษาศาลชั้นต้น คำพิพากษาศาลชั้นต้นที่ให้ยกคำร้องขอเข้าร่วมเป็นโจทก์ของบิดาผู้เสียหายเป็นอันยุติไปแล้ว ดังนี้ โจทก์ร่วมไม่มีอำนาจเข้าร่วมเป็นโจทก์กับพนักงานอัยการและไม่ได้เป็นคู่ความในคดีส่วนอาญาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณา ความอาญา มาตรา ๓๐ และมาตรา ๒ (๑๕) ไม่มีสิทธิฎีกาคัดค้านคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗

               การยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง ต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๖ สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่ง ต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์ หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดี ส่วนอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกาหรือยุติไปแล้วตามคำพิพากษาศาลชั้นต้นหรือศาลอุทธรณ์ คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๐

               คดีส่วนอาญาโจทก์และจำเลยไม่ได้ฎีกาและโจทก์ร่วมไม่มีสิทธิฎีกา จึงยุติไปตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๗ สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาคดีส่วนแพ่งของโจทก์ร่วมซึ่งยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๔๔/๑ ต้องพิจารณาตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง การที่โจทก์ร่วมยื่นฎีกาคดีส่วนแพ่งโดยไม่ได้ยื่นคำร้องขออนุญาตฎีกามาด้วยจึงเป็นการไม่ปฏิบัติตามบทบัญญัติประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๒๔๔/๑ และมาตรา ๒๔๗ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๔๘๓๙/๒๕๖๒ การที่โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๔/๑ เป็นการใช้สิทธิยื่นคำร้องในคดีอาญาที่พนักงานอัยการเป็นโจทก์ มิใช่เป็นคดีที่โจทก์ร่วมฟ้องเองโดยตรง จึงต้องถือว่าคำพิพากษาในส่วนที่โจทก์ร่วมเรียกค่าสินไหมทดแทนเป็นส่วนหนึ่งของคำพิพากษาในคดีส่วนอาญา ทั้งการพิพากษาคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญา ศาลจำต้องถือข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏในคำพิพากษาคดีส่วนอาญา ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๖ ดังนั้น สิทธิในการอุทธรณ์ฎีกาเกี่ยวกับค่าสินไหมทดแทนในคดีส่วนแพ่งดังกล่าวต้องถือคดีส่วนอาญาเป็นหลัก หากคดีส่วนอาญาขึ้นมาสู่การพิจารณาของศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ไม่ต้องห้ามอุทธรณ์หรือฎีกา แต่หากคดีอาญาต้องห้ามอุทธรณ์ฎีกา คดีส่วนแพ่งก็ต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง คดีนี้คดีส่วนอาญาต้องห้ามฎีกา การพิจารณาคดีส่วนแพ่งในชั้นฎีกาจึงต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๔๐ โจทก์ร่วมยื่นคำร้องขอให้บังคับจำเลยทั้งสามชดใช้ค่าสินไหมทดแทนเมื่อวันที่ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๕๘ ก่อนที่ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง (ฉบับที่ ๒๗) พ.ศ.๒๕๕๘ มีผลใช้บังคับ สิทธิในการฎีกาจึงเป็นไปตามกฎหมายฉบับเดิมก่อนมีการแก้ไข ดังนั้น เมื่อโจทก์ร่วมฎีกาขอให้จำเลยที่ ๑ และที่ ๒ ชำระค่าสินไหมทดแทนแก่โจทก์ร่วม ๑๐๐,๐๐๐ บาท เป็นฎีกาโต้แย้งดุลพินิจในการรับฟังพยานหลักฐานของศาลอุทธรณ์ภาค ๙ เป็นฎีกาในปัญหาข้อเท็จจริง เมื่อจำนวนค่าสินไหมทดแทนที่เรียกร้องอันเป็นทุนทรัพย์ที่พิพาทกันในชั้นฎีกาไม่เกินสองแสนบาท คดีจึงต้องห้ามฎีกาตาม ป.วิ.พ. มาตรา ๒๔๘ วรรคหนึ่ง ซึ่งเป็นกฎหมายที่ใช้บังคับในขณะฟ้องคดี ที่ศาลชั้นต้นสั่งรับฎีกามาจึงไม่ชอบ ศาลฎีกาไม่รับวินิจฉัย


ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา

               มาตรา ๔๐  การฟ้องคดีแพ่งที่เกี่ยวเนื่องกับคดีอาญาจะฟ้องต่อศาลซึ่งพิจารณาคดีอาญาหรือต่อศาลที่มีอำนาจชำระคดีแพ่งก็ได้ การพิจารณาคดีแพ่งต้องเป็นไปตามบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง