คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๑๖๑๙/๒๕๖๒

                เขตอำนาจของศาลแขวงในส่วนคดีแพ่งมีบัญญัติไว้ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๕ (๔) ว่ามีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท คดีนี้โจทก์บรรยายฟ้องและมีคำขอบังคับให้จำเลยทั้งสองรับผิดชดใช้ค่าเสียหายเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท รวมทั้งเรียกดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดถึงวันฟ้องและนับแต่วันฟ้องจนกว่าจำเลยทั้งสองจะชำระเสร็จ จำนวนเงินที่ฟ้องอันถือเป็นทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องในศาลชั้นต้นย่อมต้องรวมถึงดอกเบี้ยนับแต่วันกระทำละเมิดจนถึงวันฟ้องด้วย ซึ่งเมื่อคำนวณค่าเสียหายรวมดอกเบี้ยคิดถึงวันฟ้องแล้วคดีนี้มีทุนทรัพย์ที่โจทก์เรียกร้องมาเกินกว่าสามแสนบาท จึงเกินอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงที่จะพิจารณาพิพากษาได้ตามบทบัญญัติกฎหมายดังกล่าวซึ่งศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้อง การที่ศาลชั้นต้นรับฟ้องและพิจารณาพิพากษาคดีจึงเป็นการไม่ชอบ

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๔๑๘๗-๔๑๘๙/๒๕๖๑ ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีแพ่งซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกินสามแสนบาท ตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๕ (๔) โดยต้องถือตามจำนวนทุนทรัพย์ในวันที่ยื่นฟ้อง

               โจทก์ที่ ๒ และที่ ๕ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน ๓๐๐,๐๐๐ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ และโจทก์ที่ ๔ ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากจำเลยทั้งสองในมูลละเมิดเป็นเงิน ๒๙๕,๗๐๗.๓๒ บาท พร้อมดอกเบี้ยอัตราร้อยละ ๗.๕ ต่อปี นับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ เป็นต้นไปจนกว่าจะชำระเสร็จ จึงต้องนำดอกเบี้ยซึ่งคิดคำนวณนับแต่วันที่ ๓๑ ตุลาคม ๒๕๕๗ จนถึงวันฟ้องคือวันที่ ๔ สิงหาคม ๒๕๕๘ มารวมเป็นจำนวนเงินที่ฟ้องด้วย คดีในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ย่อมเป็นคดีมีทุนทรัพย์เกินกว่าสามแสนบาท ศาลชั้นต้นซึ่งเป็นศาลแขวงย่อมไม่มีอำนาจรับคดีในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ ไว้พิจารณาพิพากษาตามพระธรรมนูญศาลยุติธรรม มาตรา ๑๗ ประกอบมาตรา ๒๕ (๔) ศาลชั้นต้นต้องสั่งไม่รับฟ้องคดีในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ การที่ศาล ชั้นต้นพิจารณาพิพากษาคดีในส่วนของโจทก์ที่ ๒ ที่ ๔ และที่ ๕ เป็นการไม่ชอบ

 

พระธรรมนูญศาลยุติธรรม พ.ศ.๒๕๔๓

               มาตรา ๑๗ ศาลแขวงมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดี และมีอำนาจทำการไต่สวน หรือมีคำสั่งใด ๆ ซึ่งผู้พิพากษาคนเดียวมีอำนาจตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๒๔ และมาตรา ๒๕ วรรคหนึ่ง

               มาตรา ๒๕ ในศาลชั้นต้น ผู้พิพากษาคนเดียวเป็นองค์คณะมีอำนาจเกี่ยวแก่คดีซึ่งอยู่ในอำนาจของศาลนั้น ดังต่อไปนี้

                    (๔) พิจารณาพิพากษาคดีแพ่ง ซึ่งราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินที่ฟ้องไม่เกิน สามแสนบาท ราคาทรัพย์สินที่พิพาทหรือจำนวนเงินดังกล่าวอาจขยายได้โดยการตราเป็นพระราช กฤษฎีกา