คำพิพากษาฎีกาที่ ๖๑/๒๕๖๓ 

               ฎีกาของจำเลยที่ขอถอนคำให้การเดิมและให้การใหม่เป็นรับสารภาพ เป็นการขอแก้ไขคำให้การจากที่ให้การปฏิเสธเป็นให้การรับสารภาพซึ่งไม่อาจกระทำได้เพราะการแก้ไขคำให้การจะต้องกระทำก่อนศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๖๓ วรรคสอง แต่การที่จำเลยยื่นฎีกาขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกาถือว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๑ พิพากษาว่าจำเลยกระทำผิดฐานร่วมกันพยายาม ฆ่าผู้อื่น ฐานยิงปืนซึ่งใช้ดินระเบิดโดยใช่เหตุในเมือง หมู่บ้าน หรือ ที่ชุมนุมชน และฐานร่วมกันทำให้เสียทรัพย์ตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑ ที่จำเลยให้การรับสารภาพในชั้นนี้ ดังนี้ คดีฟังได้ว่า จำเลยกระทำความผิดฐานดังกล่าวตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๑

 

               ตามฎีกานี้ หลังถูกจับกุมจำเลยให้การปฏิเสธต่อสู้คดีมาโดยตลอดตั้งแต่ชั้นสอบสวน ชั้นพิจารณาของศาลชั้นต้น จนถึงชั้นพิจารณาของศาลอุทธรณ์ภาค ๑ อ้างว่ามิใช่คนร้ายที่ใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ ๑ ถึงที่ ๔ จำเลยมารับสารภาพในชั้นฎีกา ศาลฎีกาวินิจฉัยว่า “เป็นการกระทำเพื่อหวังผลในทางคดีของตนมิใช่สำนึกในความผิดกรณีไม่มีเหตุบรรเทาโทษแก่จำเลย”

 

เพิ่มเติม

               ฎีกาที่ ๘๙๓/๒๕๖๓ การที่จำเลยยื่นคำแถลงการณ์โดยขอให้การรับสารภาพในชั้นฎีกา ถือได้ว่าจำเลยยอมรับข้อเท็จจริงโดยไม่โต้แย้งข้อที่ศาลอุทธรณ์ภาค ๔ พิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดตามฟ้อง จึงไม่มีประเด็นต้องวินิจฉัยตามฎีกาของจำเลยอีกต่อไปว่าจำเลยกระทำความผิดหรือไม่

 

ประมวลกฎหมายวิธีพิจาณาความอาญา

               มาตรา ๑๖๓ เมื่อมีเหตุอันควร โจทก์มีอำนาจยื่นคำร้องต่อศาลขอแก้หรือเพิ่มเติมฟ้องก่อนมีคำพิพากษาศาลชั้นต้น ถ้าศาลเห็นสมควรจะอนุญาตหรือจะสั่งให้ไต่สวนมูลฟ้องเสียก่อนก็ได้ เมื่ออนุญาตแล้วให้ส่งสำเนาแก้ฟ้องหรือฟ้องเพิ่มเติมแก่จำเลยเพื่อแก้ และศาลจะสั่งแยกสำนวนพิจารณาฟ้องเพิ่มเติมนั้นก็ได้

               เมื่อมีเหตุอันควร จำเลยอาจยื่นคำร้องขอแก้หรือเพิ่มเติมคำให้การของเขาก่อนศาลพิพากษา ถ้าศาลเห็นสมควรอนุญาต ก็ให้ส่งสำเนาแก่โจทก์