การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า

               ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
               มาตรา ๑๖๙ การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา แต่ถ้าได้บอกถอนไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้น ก่อนหรือพร้อมกันกับที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา การแสดงเจตนานั้นตกเป็นอันไร้ผล
               การแสดงเจตนาที่ได้ส่งออกไปแล้วย่อมไม่เสื่อมเสียไป แม้ภายหลังการแสดงเจตนานั้นผู้แสดงเจตนาจะถึงแก่ความตาย หรือถูกศาลสั่งให้เป็นคนไร้ความสามารถหรือคนเสมือนไร้ความสามารถ

การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้า
               หมายถึง บุคคลที่ไม่สามารถติดต่อสื่อสารหรือรับรู้กันได้โดยทันที ต้องใช้การติดต่อสื่อสารกันด้วยจดหมาย โทรเลข โทรสาร ที่ผู้รับมิได้รอรับอยู่ที่ปลายทาง
               “ไปถึง” ผู้รับ โดยผู้รับจะได้ “รู้” ถึงข้อความในจดหมายนั้นหรือไม่ก็ได้
               ตามมาตรา ๖๘๖ การบอกกล่าวผู้ค้ำประกันเมื่อลูกหนี้ผิดนัด กฎหมายก็กำหนดเอาการ “ไปถึง” ผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญด้วย

               ฎีกาที่ ๑๐๘๐๘/๒๕๕๙ การบอกกล่าวบังคับจำนองเป็นการแสดงเจตนาอย่างหนึ่งตามประมวล กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๖๙ วรรคหนึ่ง ที่บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนา...” ถ้อยคำว่า “ไปถึง” นั้น หมายความว่า ผู้รับการแสดงได้มีการแสดงเจตนาโดยมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ณ ภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้ แม้ขณะจดหมายบอกกล่าวไปถึงภูมิลำเนาหรือสำนักทำการงานของลูกหนี้จะไม่พบลูกหนี้หรือไม่มีผู้ใดรับไว้ ก็ถือได้ว่าผู้รับจำนองมีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงลูกหนี้โดยชอบแล้ว เมื่อข้อเท็จจริงได้ความว่า โจทก์ส่งจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองถึงจำเลยโดยทางไปรษณีย์ตอบรับตามภูมิลำเนาที่จำเลยระบุในสัญญาจำนอง และตามแบบรับรองรายการทะเบียนราษฎรเอกสารแนบท้ายคำแถลงขอปิดหมายเรียกและสำเนาคำฟ้อง กรณีจึงถือได้ว่าโจทก์มีจดหมายบอกกล่าวบังคับจำนองไปถึงจำเลยและมีผลเป็นการบอกกล่าวบังคับจำนองโดยชอบแล้ว ตามประมวลกฎหมายแพ่งและ พาณิชย์ มาตรา ๗๒๘ และมาตรา ๑๖๙ วรรคหนึ่ง หมายเหตุ ตามฎีกานี้ จำเลยฎีกาว่าปรากฏว่าส่งไม่ได้เพราะไม่มารับภายในกำหนด โดยที่พนักงานไปรษณีย์ไม่ได้มีหนังสือแจ้งจำเลยให้ไปรับหนังสือของโจทก์ดังกล่าวที่ที่ทำการไปรษณีย์
               ฎีกาที่ ๕๙๐๑/๒๕๕๐ การแสดงเจตนาต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้านั้น ป.พ.พ. มาตรา ๑๖๙ บัญญัติว่า “การแสดงเจตนาที่กระทำต่อบุคคลซึ่งมิได้อยู่เฉพาะหน้าให้ถือว่ามีผลนับแต่เวลาที่การแสดงเจตนานั้นไปถึงผู้รับการแสดงเจตนา...” ถ้อยคำที่ว่าไปถึงผู้รับการแสดงเจตนานั้นมิได้หมายความว่า ผู้นำจดหมายไปส่งจะต้องได้พบผู้รับการแสดงเจตนาโดยตรง แต่หมายความว่า ผู้นำจดหมายไปส่งต้องไปส่ง ณ ภูมิลำเนา หรือสำนักทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนา แม้ขณะไปถึงภูมิล่าเนาหรือสำนักทำการงานของผู้รับการแสดงเจตนาจะไม่พบผู้รับการแสดงเจตนาโดยตรง ก็ถือว่า เป็นการส่งยังสถานที่ที่ถูกต้องแล้ว ดังนี้ การที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าไปส่งให้จำเลยที่ ๒ ที่ภูมิลำเนาของจำเลยที่ ๒ อันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่พบจำเลยที่ ๒ และไม่มีผู้ใดรับไว้ แต่ก็ถือได้ว่าหนังสือบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ได้ไปถึงจำเลยที่ ๒ และมีผลเป็นการบอกเลิกสัญญาเช่าตามบทกฎหมายดังกล่าวแล้ว การบอกเลิกสัญญาเช่าของโจทก์ไปยังจำเลยที่ ๒ จึงชอบด้วยกฎหมาย
               ฎีกาที่ ๕๗๘๕/๒๕๓๙ โจทก์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาโดยทางไปรษณีย์ลงทะเบียนตอบรับถึงจำเลยตามภูมิลำเนา เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ส่งหนังสือบอกเลิกสัญญาให้จำเลยไม่ได้ โดยรายงานเหตุขัดข้องว่า “ย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่” เกิดจากการที่จำเลยหลีกเลี่ยงไม่ยอมรับหมาย ดังนี้ การที่เจ้าหน้าที่ไปรษณีย์นำหนังสือบอกเลิกสัญญาไปส่งให้จำเลย ที่ภูมิลำเนาของจำเลยอันเป็นการส่งอย่างเป็นทางการ แม้จะไม่พบจำเลยและไม่มีผู้ใดรับไว้ แต่ก็ถือได้ว่า หนังสือบอกเลิกสัญญาของโจทก์ได้ไปถึงจำเลย และมีผลเป็นการ บอกเลิกสัญญาตาม ป.พ.พ. มาตรา ๓๘๖ และมาตรา ๑๖๙ แล้ว การบอกเลิกสัญญาของโจทก์ไปยังจำเลยจึงชอบด้วยกฎหมาย
               ฎีกาที่ ๘๒๒/๒๕๓๔ โจทก์ได้รับโอนห้องพิพาทมาจากมารดาโดยจำเลยเป็นผู้เช่าอยู่ในขณะโอน โจทก์จึงได้รับโอนไปทั้งสิทธิและ หน้าที่ตามสัญญาเช่าตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๕๖๙ วรรคสอง โจทก์มีเอกสารซึ่งเป็นหนังสือบอกเลิกการเช่ากับซองจดหมายบรรจุหนังสือมาแสดงว่าโจทก์ได้ส่งหนังสือบอกเลิกการเช่าไปยังจำเลย ณ ห้องพิพาทนี้แล้ว มีหมายเหตุการนำจ่ายไปรษณียภัณฑ์แจ้งเหตุขัดข้องการส่งของที่ทำการไปรษณีย์ท้องที่ว่า “ผู้รับไม่ยอมรับ” จึงถือว่าได้มีการบอกเลิกการเช่าไปถึงจำเลยโดยชอบแล้ว..."
              ฎีกาที่ ๕๘๗๓/๒๕๖๒ โจทก์มีหนังสือส่งไปยังจำเลยที่ ๑ ตามสถานที่ที่ระบุในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี แม้จำเลยที่ ๑ ไม่ได้รับ แต่ซองจดหมายมีการระเหตุขัดข้องที่นำจ่ายผู้รับไม่ได้ว่าย้ายไม่ทราบที่อยู่ใหม่ โดยมีลายมือชื่อ ของพนักงานที่เกี่ยวข้องในการนำจ่ายและลงวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๙ กำกับไว้ เมื่อไม่ปรากฏว่าจำเลยที่ ๑ เคยแจ้งการเปลี่ยนแปลงสถานที่ที่ระบุไว้ในสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีมาก่อน ถือได้ว่าโจทก์ส่งหนังสือให้แก่จำเลยที่ ๑ โดยชอบแล้ว ตามสัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชี ที่กำหนดว่า “บรรดาหนังสือติดต่อ ทวงถาม บอกกล่าวหรือหนังสืออื่น ใดที่จะส่งให้แก่ผู้กู้นั้น ไม่ว่าจะส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียนหรือไม่ลงทะเบียน หรือให้คนนำไปส่งเองก็ดี ถ้าหากได้ส่งไปยังสถานที่ที่ระบุไว้ข้างต้นตามสัญญาฉบับนี้ ให้ถือว่าได้ส่งให้แก่ผู้กู้โดยชอบ ทั้งนี้โดยไม่คำนึงว่าจะมีผู้รับไว้หรือไม่ก็ตาม..” สัญญากู้เบิกเงินเกินบัญชีระหว่างโจทก์กับจำเลยที่ ๑ เป็นอันเลิกกันในวันที่ ๑๑ มีนาคม ๒๕๕๙ และถือว่าจำเลยที่ ๑ ตกเป็นผู้ผิดนัดนับแต่วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๕๙ เป็นต้นไป

อ้างอิง
ศนันท์กรณ์ โสตถิพันธุ์. คำอธิบายนิติกรรม-สัญญา. พิมพ์ครั้งที่ 22. กรงเทพฯ: สำนักพิมพ์วิญญูชน, 2561.