ละเมิด ค่าสินไหมทดแทน กรณีทำให้ตาย

               มาตรา ๔๔๓ ในกรณีทำให้เขาถึงตายนั้น ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่าปลงศพรวมทั้งค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น ๆ อีกด้วย
               ถ้ามิได้ตายในทันที ค่าสินไหมทดแทนได้แก่ค่ารักษาพยาบาลรวมทั้งค่าเสียหายที่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานนั้นด้วย
               ถ้าว่าเหตุที่ตายลงนั้นทำให้บุคคลหนึ่งคนใดต้องขาดไร้อุปการะตามกฎหมายไปด้วยไซร้ ท่านว่าบุคคลคนนั้นชอบที่จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพื่อการนั้น
               มาตรา ๔๔๕ ในกรณีทำให้เขาถึงตาย หรือให้เสียหายแก่ร่างกายหรืออนามัยก็ดี ในกรณีทำให้เขาเสียเสรีภาพก็ดี ถ้าผู้ต้องเสียหายมีความผูกพันตามกฎหมายจะต้องทำการงานให้เป็นคุณแก่บุคคลภายนอกในครัวเรือน หรืออุตสาหกรรมของบุคคลภายนอกนั้นไซร้ ท่านว่าบุคคลผู้จำต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนนั้นจะต้องใช้ค่าสินไหมทดแทนให้แก่บุคคลภายนอกเพื่อที่เขาต้องขาดแรงงานอันนั้นไปด้วย
               มาตรา ๑๕๔๗ เด็กเกิดจากบิดามารดาที่มิได้สมรสกัน จะเป็นบุตรชอบด้วยกฎหมายต่อเมื่อบิดามารดาได้สมรสกันในภายหลังหรือบิดาได้จดทะเบียนว่าเป็นบุตรหรือศาลพิพากษาว่าเป็นบุตร

ค่าสินไหมทดแทน
               ๑.ค่าปลงศพ(มาตรา ๔๔๓ วรรคแรก)
๒.ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่น(มาตรา ๔๔๓ วรรคแรก)
๓.ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย(มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง)
๔.ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย(มาตรา ๔๔๓ วรรคสอง)
๕.ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย(มาตรา ๔๔๓ วรรคสาม)
๖.ค่าขาดแรงงาน(มาตรา ๔๔๕)
               ค่าสินไหมทดแทนกรณีตาย เรียกได้เฉพาะตามมาตรา ๔๔๓ และ ๔๔๕ ได้เท่านั้น(ฎีกาที่ ๗๑๖๖/๒๕๔๒)

ค่าปลงศพ
               ค่าปลงศพ ได้แก่ โลงศพ สวดศพ ทำบุญตามประเพณี
               ผู้มีสิทธิเรียกค่าปลงศพได้คือผู้ที่มีอำนาจจัดการศพ ได้แก่
               (๑) ผู้จัดการมรดก
               (๒) ทายาท ภายใต้บังคับมาตรา ๑๖๔๙
               (๓) บุตรนอกกฎหมายที่บิดารับรองแล้ว(ฎีกาที่ ๑๔/๒๕๑๗, ๑๒๐๒/๒๕๔๙)
               (๔) ไม่มีบิดามารดา ไม่มีผู้สืบสันดาน พี่น้องร่วมบิดามารดา เป็นผู้จัดการศพ เรียกค่าปลงศพได้(ฎีกาที่ ๔๘๒๘/๒๕๒๙)
               การเรียกค่าปลงศพต้องเรียกตามฐานะและตามสมควร(ฎีกาที่ ๕๓๓/๒๕๐๖, ๑๖๔๘/๒๕๐๙)
               กรณีไม่มีสิทธิเรียกค่าปลงศพ
               บิดานอกกฎหมายไม่มีสิทธิเรียกค่าเสียหายและค่าปลงศพ(ฎีกาที่ ๑๒๘๕/๒๕๐๘)
                
ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นอย่างอื่นในการจัดการศพ
               ค่าใช้จ่ายอันจำเป็นที่เรียกได้ เช่น ค่าดอกไม้(ฎีกาที่ ๕๙๘๕/๒๕๓๙), ค่าอาหารเลี้ยงแขก(ฎีกาที่ ๕๓๓/๒๕๐๖) ค่าพิมพ์หนังสือแจกงานศพ ค่าของที่ระลึก เจดีย์บรรจุอัฐิ(ฎีกาที่ ๒๗๐๗/๒๕๑๖),
               ค่าใช้จ่ายที่เรียกไม่ได้ เช่น ทำบุญ ๑๐๐ วัน(ฎีกาที่ ๒๕๔๙-๒๕๕๐/๒๕๓๐)

ค่ารักษาพยาบาลก่อนตาย
               เรียกได้โดยไม่ต้องคำนึงว่าผู้ตายจะมีสิทธิเบิกจากหน่วยงานของรัฐหรือไม่
ค่าขาดประโยชน์ทำมาหาได้ก่อนตาย
               กรณียังไม่ตาย แต่ต้องขาดประโยชน์ทำมาหาได้เพราะไม่สามารถประกอบการงานได้เท่านั้น เช่น นอนรักษาพยาบาลจึงไม่สามารถทำงานได้

ค่าขาดไร้อุปการะตามกฎหมาย
               ผู้มีสิทธิเรียก ได้แก่ สามีภริยามีหน้าที่อุปการระเลี้ยงดูกัน, บิดามารดามีหน้าที่อุปการะเลี้ยงดูบุตรจนกว่าบุตรจะบรรลุนิติภาวะ, บุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดมารดา กรณีบุตรต้องอุปการะเลี้ยงดูบิดามารดาจนกว่าบิดามารดาจะถึงแก่ความตาย
               ค่าขาดไร้อุปการะเป็นสิทธิของบิดาและมารดาแต่ละคนแยกเรียกร้องได้(ฎีกาที่ ๒๐๙๒๐/๒๕๕๖)
               บุตรบุญธรรมและผู้รับบุตรบุญธรรม (ฎีกาที่ ๗๑๓/๒๕๑๗), บิดมารดาเดิมของบุตรบุญธรรมก็ยังมีสิทธิเรียกได้(ฎีกาที่ ๖๘๙/๒๕๑๒)
               กรณีไม่มีสิทธิเรียก
               บุตรบรรลุนิติภาวะแล้ว แม้บิดามารดายังให้การศึกษาและให้การเลี้ยงดู ก็ไม่มีสิทธิเรียกได้(ฎีกาที่ ๖๗๗/๒๕๐๑)
               บุตรนอกกฎหมาย ไม่มีสิทธิเรียกค่าขาดไร้อุปการะ(ฎีกาที่ ๑๖๐๑/๒๔๙๒) เว้นแต่จะได้ดำเนินการตามมาตรา ๑๕๔๗
               อื่นๆ
               ค่าขาดไร้อุปการะและค่าปลงศพ คิดดอกเบี้ยนับแต่วันทำละเมิด(ฎีกาที่ ๕๐๔๗/๒๕๓๙)
               การฟ้องเรียกค่าอุปการะเลี้ยงดู อาจเรียกเป็นรายเดือนหรือเอาเป็นก้อนก็ได้

ค่าขาดแรงงานของบุคคลภายนอก
               บุคคลในครัวเรือน การขาดแรงงานในครัวเรือนเป็นการไร้อุปการะอย่างหนึ่ง สามารถเรียกค่าสินไหมทดแทนในส่วนนี้ได้(ฎีกาที่ ๑๘๑๒/๒๕๓๕) แต่ถ้าไม่ปรากฏว่าผู้ตายในขณะที่มีชีวิตอยู่ได้ช่วยดำเนินกิจการ ไม่สามารถเรียกค่าขาดแรงงานได้(ฎีกาที่ ๑๗๙๕๐/๒๕๕๗)
               บุคคลนอกครัวเรือน เช่น ลูกจ้างในโรงงาน