คำพิพากษาฎีกาที่ ๕๕๑๗/๒๕๖๒ 

               ที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) ซึ่งเป็นที่ดินที่รัฐจัดสรรให้แก่ราษฎรตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ ซึ่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการเป็นผู้ออกให้แก่บุคคลที่เป็นสมาชิกนิคมที่ได้รับอนุญาตให้เข้าทำประโยชน์ในที่ดินที่ได้รับอนุญาตเกินกว่า ๕ ปี ชำระเงินช่วยทุนที่รัฐได้ลงทุนไป และชำระหนี้เกี่ยวกับกิจการของนิคมให้แก่ทางราชการแล้ว ผู้ที่ได้รับหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) สามารถขอออกโฉนดที่ดินหรือหนังสือรับรองการทำประโยชน์ตามประมวลกฎหมายที่ดินได้ ตามพระราชบัญญัติจัดที่ดินเพื่อการครองชีพ พ.ศ.๒๕๑๑ มาตรา ๑๑ วรรคสอง และประมวลกฎหมายที่ดินกำหนดเกี่ยวกับการออกโฉนดที่ดินว่าต้องออกให้แก่ผู้มีสิทธิครอบครองที่ดิน ตามประมวลกฎหมายที่ดิน มาตรา ๕๘ ประกอบ มาตรา ๕๘ ทวิ หรือมาตรา ๕๙ แล้วแต่กรณี ประกอบกฎกระทรวงฉบับที่ ๔๓ (พ.ศ. ๒๕๓๗) ออกตามความในพระราชบัญญัติให้ประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. ๒๔๙๗ ส. ครอบครองที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) จึงเป็นผู้มีสิทธิครอบครองที่ดินตามประมวลกฎหมายที่ดิน
               ไม้ประดู่และไม้แดงที่ ส.ปลูกในที่ดินตามหนังสือแสดงการทำประโยชน์ (น.ค.๓) ซึ่ง ส. เป็นผู้มีสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมาย ที่ดินจึงไม่เป็นไม้หวงห้ามตามความในพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ. ๒๕๕๔ มาตรา ๗ วรรคหนึ่ง (ที่แก้ไขใหม่) อันเป็นกฎหมายที่บัญญัติในภายหลังขณะที่คดีนี้อยู่ในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ซึ่งกำหนดให้ไม้ที่ขึ้นในที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์หรือสิทธิครอบครองตามประมวลกฎหมายที่ดินไม่เป็นไม้หวงห้าม การที่จำเลยทำไม้ประดู่และไม้แดงของกลางกับมีไม้ประดู่และไม้แดงของกลางไว้ในครอบครอง จึงไม่เป็นความผิดอาญาฐานทำไม้หวงห้ามและมีไว้ในครอบครองซึ่งไม้หวงห้าม ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ พ.ศ.๒๔๘๔ อีกต่อไป ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๒ วรรคสอง ศาลฎีกาต้องยกฟ้องโจทก์ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๑๔๕ วรรคหนึ่ง ประกอบมาตรา ๒๑๕ และ ๒๓๕

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๒ บุคคลจักต้องรับโทษในทางอาญาต่อเมื่อได้กระทำการอันกฎหมายที่ใช้ในขณะกระทำนั้นบัญญัติเป็นความผิดและกำหนดโทษไว้ และโทษที่จะลงแก่ผู้กระทำความผิดนั้น ต้องเป็นโทษที่บัญญัติไว้ในกฎหมาย
               ถ้าตามบทบัญญัติของกฎหมายที่บัญญัติในภายหลัง การกระทำเช่นนั้นไม่เป็นความผิดต่อไป ให้ผู้ที่ได้กระทำการนั้นพ้นจากการเป็นผู้กระทำความผิด และถ้าได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษแล้ว ก็ให้ถือว่าผู้นั้นไม่เคยต้องคำพิพากษาว่าได้กระทำความผิดนั้น ถ้ารับโทษอยู่ก็ให้การลงโทษนั้นสิ้นสุดลง