คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๕๑๓/๒๕๖๒ 
               จำเลยเข้ามาทางด้านหลังของผู้เสียหายแล้วถามผู้เสียหายว่า มีเงินเท่าใด จากนั้นเข้าประชิดตัวผู้เสียหายพร้อมทั้งทำท่าจะล้วงอาวุธจากขอบกางเกงด้านหลัง ซึ่งลักษณะการกระทำของจำเลยเป็นการข่มขู่ คุกคามผู้เสียหาย โดยเฉพาะจำเลยเป็นชายอยู่ในวัยฉกรรจ์ มีร่างกายล่ำกำยำและสูงกว่าผู้เสียหายมาก ผู้เสียหายเป็นหญิงและกำลังศึกษาย่อมเกิดความเกรงกลัวจำเลย พฤติการณ์ของจำเลยถือได้ว่าเป็นการขู่เข็ญผู้เสียหายว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้ายการที่จำเลยกระทำ และพูดกับผู้เสียหายเช่นนั้น ก็เพื่อให้ผู้เสียหายส่งเงินให้แก่จำเลย เมื่อผู้เสียหายส่งเงินให้เพราะเกิดความกลัวเนื่องจากถูกจำเลยขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานชิงทรัพย์เงินของผู้เสียหาย ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๙ (๒) วรรคสาม ทั้งนี้ โดยไม่ต้องคำนึงถึงว่าจำเลยเป็นผู้หยิบเอาทรัพย์นั้นเองหรือผู้เสียหายเป็นผู้หยิบส่งให้ไป
               จำเลยขับรถจักรยานยนต์ติดตามผู้เสียหายมาถึงที่เกิดเหตุ แล้วชิงทรัพย์ของผู้เสียหายไป ย่อมเป็นการใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิดหรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม อันเป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๔๐ ตรี
               ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนกระทำชำเราจึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมอยู่ให้จำเลยไปเอง โดยไม่ปรากฏว่าจำเลยขู่เข็ญหรือใช้กำลังประทุษร้ายผู้เสียหายเพื่อมุ่งประสงค์ต่อสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายหากแต่ผู้เสียหายคิดว่าเมื่อจำเลยได้สร้อยคอทองคำแล้วจะปล่อยตัวผู้เสียหาย การที่จำเลยรับเอาสร้อยคอทองคำจากผู้เสียหายไป เป็นเจตนาทุจริตที่เกิดขึ้นภายหลัง การกระทำของจำเลยไม่เป็นความผิดฐานชิงทรัพย์ แต่เป็นความผิดฐานลักทรัพย์ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๓๓๔
               ข้อเท็จจริงตามการพิจารณาได้ความว่า นอกจากจำเลยมีเจตนาชิงเงินของผู้เสียหายแล้ว จำเลยยังลักสร้อยคอทองคำของผู้เสียหายอันเป็นความผิดอีกกรรมหนึ่งแยกต่างหากจากกันเมื่อความผิดฐานชิงทรัพย์เป็นความผิดที่รวมการกระทำความผิดฐานลักทรัพย์อยู่ด้วย แม้โจทก์ฟ้องขอให้ลงโทษจำเลยฐานชิงทรัพย์เงินสดและสร้อยคอทองคำ แต่เมื่อพิจารณาได้ความว่า จำเลยกระทำความผิดฐานลักทรัพย์สร้อยคอทองคำ ศาลย่อมมีอำนาจปรับบทความผิดและบทลงโทษ จำเลยฐานลักทรัพย์ได้ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญามาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย แต่โจทก์มิได้อุทธรณ์หรือฎีกา ศาลฎีกาไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานลักทรัพย์อีกกระทงหนึ่งได้ เพราะจะเป็นการพิพากษาเพิ่มโทษต้องห้ามตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา ๒๑๒ ประกอบมาตรา ๒๒๕

               ตามฎีกานี้ ประเด็นความผิดฐานลักทรัพย์นั้น ได้ความว่า จำเลยฉุดกระชากลากตัวผู้เสียหายไปที่ลานจอดรถอีกช่องหนึ่งซึ่งมีรถกระบะจอดอยู่ จำเลยผลักและเหวี่ยงผู้เสียหายที่พื้นและบอกให้ถอดกางเกง จำเลยกอดปล้ำและพยายามดึงกางเกงผู้เสียหายออก ผู้เสียหายกลัวจำเลยจะข่มขืนจึงถอดสร้อยคอทองคำที่สวมอยู่ให้จำเลยไป โดยคิดว่าเมื่อจำเลยได้สร้อยแล้วจะปล่อยตัวผู้เสียหาย

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๓๓๙ ผู้ใดลักทรัพย์โดยใช้กำลังประทุษร้าย หรือขู่เข็ญว่าในทันใดนั้นจะใช้กำลังประทุษร้าย เพื่อ
                    (๑) ให้ความสะดวกแก่การลักทรัพย์หรือการพาทรัพย์นั้นไป
               (๒) ให้ยื่นให้ซึ่งทรัพย์นั้น
               (๓) ยึดถือเอาทรัพย์นั้นไว้
               (๔) ปกปิดการกระทำความผิดนั้น หรือ
               (๕) ให้พ้นจากการจับกุม
               ผู้นั้นกระทำความผิดฐานชิงทรัพย์ ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ห้าปีถึงสิบปี และปรับตั้งแต่หนึ่งแสนบาท ถึงสองแสนบาท
               ถ้าความผิดนั้นเป็นการกระทำที่ประกอบด้วยลักษณะดังที่บัญญัติไว้ในอนุมาตราหนึ่งอนุมาตราใดแห่งมาตรา ๓๓๕ หรือเป็นการกระทำต่อทรัพย์ที่เป็นโค กระบือ เครื่องกลหรือเครื่องจักรที่ผู้มีอาชีพกสิกรรมมีไว้ สำหรับประกอบกสิกรรม ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึงสิบห้าปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึง สามแสนบาท
               ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบปีถึง ยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สองแสนบาทถึงสี่แสนบาท
               ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นรับอันตรายสาหัส ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่สิบห้าปีถึงยี่สิบปี และปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสี่แสนบาท
               ถ้าการชิงทรัพย์เป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ผู้กระทำต้องระวางโทษประหารชีวิต หรือจำคุกตลอดชีวิต
               มาตรา ๓๔๐ ตรี ผู้ใดกระทำความผิดตามมาตรา ๓๓๙ มาตรา ๓๓๙ ทวิ มาตรา ๓๔๐ หรือมาตรา ๓๔๐ ทวิ โดยแต่งเครื่องแบบทหารหรือตำรวจหรือแต่งกายให้เข้าใจว่าเป็นทหารหรือตำรวจ หรือโดยมีหรือใช้อาวุธปืนหรือวัตถุระเบิด หรือโดยใช้ยานพาหนะเพื่อกระทำผิด หรือพาทรัพย์นั้นไป หรือเพื่อให้พ้นการจับกุม ต้องระวางโทษหนักกว่าที่บัญญัติไว้ในมาตรานั้น ๆ กึ่งหนึ่ง

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
               มาตรา ๑๙๒ วรรคท้าย ถ้าความผิดตามที่ฟ้องนั้นรวมการกระทำหลายอย่าง แต่ละอย่างอาจเป็นความผิดได้อยู่ในตัวเอง ศาลจะลงโทษจำเลยในการกระทำผิดอย่างหนึ่งอย่างใดตามที่พิจารณาได้ความก็ได้