คำพิพากษาศาลฎีกาที่ ๗๗๑๖/๒๕๖๑
               จำเลยใช้อาวุธปืนยิงผู้เสียหายที่ ๑ เมื่อผู้เสียหายที่ ๑ วิ่งหลบหนีไปในบริษัท จำเลยยังไล่ยิงไปยังรถบัสของผู้เสียหายที่ ๒ ขณะมีพนักงานวิ่งหนีเพื่อไปหลบบนรถ กระสุนไม่ถูกผู้ใด แต่ถูกกระจกมองข้างของรถบัสของผู้เสียหายที่ ๒ ได้รับความเสียหาย จากการกระทำดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า จำเลยเล็งเห็นผลแห่งการกระทำของตนว่ากระสุนปืนอาจถูกผู้เสียหายที่ ๑ ถึงแก่ความตาย เป็นการกระทำโดยมีเจตนาฆ่าผู้เสียหายที่ ๑ เมื่อกระสุนปืนไม่ถูกผู้เสียหายที่ ๑ แต่ถูกกระจกมองข้างของรถบัสได้รับความเสียหาย การกระทำของจำเลยจึงเป็นความผิดฐานพยายามฆ่าผู้เสียหายที่ ๑ และทำให้เสียทรัพย์ผู้เสียหายที่ ๒
               ความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาต แม้จำเลยให้การรับสารภาพและศาลสามารถพิพากษาลงโทษจำเลยได้ โดยไม่ต้องสืบพยานหลักฐานประกอบตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๗๖ วรรคหนึ่ง ก็ตาม แต่เมื่อโจทก์สืบพยานหลักฐานในข้อหาพยายามฆ่าผู้อื่นแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงว่าโจทก์ไม่ได้อาวุธปืนมาเป็นของกลางและโจทก์มิได้ นำสืบให้ได้ความว่าอาวุธปืนดังกล่าวเป็นอาวุธปืนที่ไม่มีเครื่องหมายทะเบียนของเจ้าพนักงานประทับไว้ จึงต้องฟังให้เป็นคุณแก่จำเลยว่าเป็นอาวุธปืนของผู้อื่นที่ได้รับอนุญาตให้มีและใช้ตามกฎหมาย อันเป็นความผิดตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. ๒๔๙๐ มาตรา ๗๒ วรรคสาม ไม่อาจลงโทษจำเลยในความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธปืนไม่มีเครื่องหมายทะเบียนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับใบอนุญาตได้ ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๘๕ วรรคหนึ่ง ที่ศาลล่างทั้งสองปรับบทลงโทษตาม พ.ร.บ. อาวุธปืนฯ มาตรา ๗, ๗๒ วรรคหนึ่ง จึงเป็นการไม่ชอบ ปัญหานี้เป็นปัญหาข้อกฎหมายที่เกี่ยวกับความสงบเรียบร้อย ศาลฎีกามีอำนาจยกขึ้นวินิจฉัย และแก้ไขได้ตาม ป.วิ.อ. มาตรา ๑๙๕ วรรคสอง ประกอบมาตรา ๒๒๕

เพิ่มเติม
               ฎีกาที่ ๒๓๑/๒๕๒๘ จำเลยยิงปืน ๒ นัด ไปยังท้ายรถยนต์โดยสารที่ตนขับตามหลังไป เนื่องจากความไม่พอใจที่มีการขับรถยนต์แซงปาดหน้าซึ่งกันและกันระหว่างจำเลยกับพนักงานขับรถยนต์โดยสาร กระสุนนัดหนึ่งทะลุกลางฝากระโปรงที่เก็บของ และอีกนัดหนึ่งถูกเหนือไฟท้ายด้านขวาต่ำกว่าที่ผู้โดยสารนั่งประมาณ ๑๕ และ ๑๐ เซนติเมตร จำเลยย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำได้ว่าอาจทำให้ผู้โดยสารได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต จำเลยจึงมีความผิดฐานพยายามฆ่าผู้อื่น

ประมวลกฎหมายอาญา
               มาตรา ๕๙ บุคคลจะต้องรับผิดในทางอาญาก็ต่อเมื่อได้กระทำโดยเจตนา เว้นแต่จะได้กระทำโดยประมาท ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติให้ต้องรับผิดเมื่อได้กระทำโดยประมาท หรือเว้นแต่ในกรณีที่กฎหมายบัญญัติไว้โดยแจ้งชัดให้ต้องรับผิดแม้ได้กระทำโดยไม่มีเจตนา
               กระทำโดยเจตนา ได้แก่กระทำโดยรู้สำนึกในการที่กระทำและในขณะเดียวกันผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้น ถ้าผู้กระทำมิได้รู้ข้อเท็จจริงอันเป็นองค์ประกอบของความผิด จะถือว่าผู้กระทำประสงค์ต่อผล หรือย่อมเล็งเห็นผลของการกระทำนั้นมิได้
               กระทำโดยประมาท ได้แก่กระทำความผิดมิใช้โดยเจตนา แต่กระทำโดยปราศจากความระมัดระวังซึ่งบุคคลในภาวะเช่นนั้นจักต้องมีตามวิสัยและพฤติการณ์ และผู้กระทำอาจใช้ความระมัดระวังเช่นว่านั้นได้ แต่หาได้ใช้ให้เพียงพอไม่
               การกระทำ ให้หมายความรวมถึงการให้เกิดผลอันหนึ่งอันใดขึ้นโดยงดเว้นการที่จักต้องกระทำเพื่อป้องกันผลนั้นด้วย