ส. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะเมื่อวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ซึ่งยังไม่พ้นระยะเวลาที่โจทก์จะยื่นอุทธรณ์คัดค้านคำพิพากษาศาลชั้นต้น กรณีเช่นนี้เมื่อศาลชั้นต้นสั่งรับคำร้องดังกล่าวแล้ว ศาลชั้นต้นจะต้องไต่สวนคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนและมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง มาตรา ๔๒ และ ๔๓ เสียก่อน แล้วจึงจะมีคำสั่งเกี่ยวกับเรื่องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ที่ยื่นมาพร้อมกับคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะและที่ยื่นมาในภายหลัง การที่ศาลชั้นต้นสั่งคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ฉบับดังกล่าวเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ ว่า สั่งใหม่ ไปชั้นนี้เห็นควรอนุญาตไปก่อนรวมทั้งที่สั่งอนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ตามคำร้องที่ยื่นเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ ก่อนที่จะมีคำสั่งอนุญาตให้ ส. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ จึงเป็นการไม่ชอบ แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตให้ ส. เข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์เมื่อวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๕๙ และต่อมาได้สั่งรับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นเมื่อวันที่ ๒๖ มกราคม ๒๕๖๐ ก็ต้องถือว่าศาลชั้นต้นได้อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ เพราะมีพฤติการณ์พิเศษตามที่โจทก์ขอมาตามคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ทั้งสองฉบับดังกล่าว และได้รับอุทธรณ์ของโจทก์ที่ยื่นภายในกำหนดไว้แล้ว

ข้อเท็จจริง
                คดีนี้ ศาลชั้นต้นมีคำพิพากษาเมื่อวันที่ ๒๙ มีนาคม ๒๕๕๙ ซึ่งจะครบกำหนดอุทธรณ์ในวันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ ๑ วันที่ ๒๙ เมษายน ๒๕๕๙ อ้างว่าโจทก์ถึงแก่ความตายแล้วขอขยายระยะเวลา ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตถึงวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๕๙
                ทนายโจทก์ยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ ๔ ในวันที่ ๒๗ กรกฎาคม ๒๕๕๙ ขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก ๓๐ วันศาลชั้นต้นมีคำสั่งว่าอนุญาตเป็นครั้งสุดท้ายถึงวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ครั้นวันที่ ๒๙ สิงหาคม ๒๕๕๙ ส. ยื่นคำร้องขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่โจทก์ผู้มรณะและยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ออกไปอีก ๓๐ วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งในวันเดียวกันว่า “รอสั่งภายหลังจากที่มีคำสั่งเข้าเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะแล้ว” และเมื่อวันที่ ๒๘ กันยายน ๒๕๕๙ ผู้ร้องยื่นคำร้องขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ ๖ ออกไปอีก ๓๐ วัน ศาลชั้นต้นมีคำสั่งอนุญาตและมีคำสั่งในคำร้องขอขยายระยะเวลาครั้งที่ ๕ ว่า “สั่งใหม่ ในชั้นนี้เห็นควรอนุญาตไปก่อน” ซึ่งคำสั่งของศาลชั้นต้นที่อนุญาตให้ขยายระยะเวลาอุทธรณ์ครั้งที่ ๖ กำหนด ๓๐ วัน นั้น ครบกำหนดในวันที่ ๒๘ ตุลาคม ๒๕๕๙ หลังจากนั้นไม่มีผู้ใดขอขยายระยะเวลาอุทธรณ์อีก
                ศาลอุทธรณ์ยกอุทธรณ์ของโจทก์โดยเห็นว่าเป็นอุทธรณ์ที่ยื่นเมื่อพ้นกำหนดระยะเวลาตามกฎหมาย
                ศาลฎีกาพิพากษายกคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ภาค ๓ ให้ศาลอุทธรณ์ภาค ๓ พิจารณาพิพากษาใหม่ตามรูปคดี

เพิ่มเติม
                คำว่า คู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะ…” โดยทั่วไปคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลใดก็ถือว่าเป็นคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลนั้น ซึ่งอาจเป็นศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์หรือศาลฎีกา ก็ได้
                สำหรับในช่วงระยะเวลาอุทธรณ์หรือฎีกา กล่าวคือช่วงเวลาตั้งแต่ศาลชั้นต้นอ่านคำพิพากษาศาลชั้นต้นและศาลอุทธรณ์จนถึงเวลายื่นอุทธรณ์หรือฎีกาหรือจนกว่าคดีจะถึงที่สุด คือครบกำหนด ๑ เดือนกรณีที่ไม่มีการอุทธรณ์หรือฎีกา ถือว่าเป็นกรณีที่คดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลระหว่างอุทธรณ์หรือฎีกาเช่นกัน ทายาทของคู่ความผู้มรณะจึงมีสิทธิขอเข้าเป็นคู่ความแทนที่เพื่อใช้สิทธิอุทธรณ์หรือฎีกาได้(ฎีกาที่ ๑๕๗๕/๒๕๓๘)

อ้างอิง
วิเชียร ดิเรกอุดมศักดิ์. วิ แพ่งพิสดาร เล่ม ๑ ฉบับปรับปรุงใหม่ ปี ๒๕๕๓.

ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง
                มาตรา ๒๓  เมื่อศาลเห็นสมควรหรือมีคู่ความฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้ยื่นคำขอโดยทำเป็นคำร้อง ให้ศาลมีอำนาจที่จะออกคำสั่งขยายหรือย่นระยะเวลาตามที่กำหนดไว้ในประมวลกฎหมายนี้หรือตามที่ศาลได้กำหนดไว้ หรือระยะเวลาที่เกี่ยวด้วยวิธีพิจารณาความแพ่งอันกำหนดไว้ในกฎหมายอื่น เพื่อให้ดำเนินหรือมิให้ดำเนินกระบวนวิธีพิจารณาใด ๆ ก่อนสิ้นระยะเวลานั้นแต่การขยายหรือย่นเวลาเช่นว่านี้ให้พึงทำได้ต่อเมื่อมีพฤติการณ์พิเศษ และศาลได้มีคำสั่งหรือคู่ความมีคำขอขึ้นมาก่อนสิ้นระยะเวลานั้น เว้นแต่ในกรณีที่มีเหตุสุดวิสัย
                มาตรา ๔๒ ถ้าคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งในคดีที่ค้างพิจารณาอยู่ในศาลได้มรณะเสียก่อนศาลพิพากษาคดี ให้ศาลเลื่อนการนั่งพิจารณาไปจนกว่าทายาทของผู้มรณะหรือผู้จัดการทรัพย์มรดกของผู้มรณะ หรือบุคคลอื่นใดที่ปกครองทรัพย์มรดกไว้ จะได้เข้ามาเป็นคู่ความแทนที่ผู้มรณะ โดยมีคำขอเข้ามาเอง หรือโดยที่ศาลหมายเรียกให้เข้ามา เนื่องจากคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งมีคำขอฝ่ายเดียว คำขอเช่นว่านี้จะต้องยื่นภายในกำหนดหนึ่งปีนับแต่วันที่คู่ความฝ่ายนั้นมรณะ
                ถ้าไม่มีคำขอของบุคคลดังกล่าวมาแล้ว หรือไม่มีคำขอของคู่ความฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งภายในเวลาที่กำหนดไว้ ให้ศาลมีคำสั่งจำหน่ายคดีเรื่องนั้นเสียจากสารบบความ