ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกของผู้ตายตามคำสั่งศาลได้โอนที่ดินรวม ๘ แปลง ให้แก่ ณ. กับ อ. ซึ่งเป็นพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันของผู้ตาย และ ป. ซึ่งเป็นบุตรของผู้ตาย นอกจากนี้ผู้คัดค้านโอนขายที่ดินซึ่งเป็นสินสมรสระหว่างผู้ตายกับผู้คัดค้านให้แก่ผู้มีชื่อ นอกจากนี้ไม่มีทรัพย์มรดกของผู้ตายหลงเหลือให้จัดการอีกต่อไป จึงถือได้ว่า ผู้ร้องในฐานะผู้จัดการมรดกได้จัดการมรดกเสร็จสิ้น แม้ผู้คัดค้านจะอ้างเหตุว่าผู้ร้องยื่นคำร้องขอตั้งผู้จัดการมรดกต่อศาลโดยมีเจตนาทุจริตปกปิดผู้คัดค้านและบุตรซึ่งเป็นทายาทโดยธรรมของผู้ตายทั้งได้โอนทรัพย์มรดกให้แก่ผู้ไม่มีสิทธิ และไม่จัดทำบัญชีทรัพย์มรดกยื่นต่อศาลภายในสิบห้าวันตามกฎหมายอันอาจเป็นเหตุให้ผู้ร้องขอถอนผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดกได้ก็ตาม แต่หากผู้ร้องจัดการมรดกไม่ถูกต้องตามที่ผู้คัดค้านกล่าวอ้างก็เป็นเรื่องที่ผู้คัดค้านและทายาทผู้มีสิทธิแต่ได้รับการแบ่งปันไม่ชอบจะต้องไปฟ้องร้องเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยตรงต่อไปเป็นคดีต่างหากจากการร้องขอให้ถอดผู้ร้องออกจากการเป็นผู้จัดการมรดก ไม่อาจถือได้ว่าการปันมรดกรายดังกล่าวยังไม่เสร็จสิ้น ไม่มีเหตุที่จะมาร้องขอถอนผู้จัดการมรดกและตั้งผู้จัดการมรดก การที่ผู้คัดค้านยื่นคำร้องขอถอนผู้ร้องจากการเป็นผู้จัดการมรดกอันเป็นเวลาภายหลังการปันมรดกเสร็จสิ้นแล้ว ย่อมต้องห้ามตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา ๑๗๒๗ วรรคหนึ่ง

ข้อเท็จจริง
                ผู้ร้องเป็นบิดาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย ส่วนผู้คัดค้านเป็นภรรยาชอบด้วยกฎหมายของผู้ตาย

เพิ่มเติม
                การขอถอนผู้จัดการมรดกจะต้องร้องขอเสียก่อนการปันมรดกเสร็จสิ้น ตามมาตรา ๑๗๒๗ วรรคหนึ่ง เมื่อผู้จัดการมรดก จัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว การเป็นผู้จัดการมรดกก็สิ้นสุดลงโดยไม่ต้องคำนึงว่าการปันทรัพย์มรดกนั้นถูกต้องหรือไม่ ซึ่งเป็นเรื่องที่ทายาทจะไปฟ้องร้องผู้จัดการมรดกเป็นคดีมีข้อพิพาทโดยตรง
                ฎีกาที่ ๒๘๙๔/๒๕๕๒ ผู้ตายมีที่ดินพิพาทเป็นทรัพย์มรดกเพียงแปลงเดียว เมื่อผู้จัดการมรดกโอนที่ดินพิพาทให้แก่ตนเองในฐานะผู้จัดการมรดก แล้วโอนให้ตนเองในฐานะทายาท ถือว่าการจัดการมรดกเสร็จสิ้นแล้ว

อ้างอิง
กีรติ กาญจนรินทร์. คำอธิบายประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๖ มรดก. กรุงเทพมหานคร: จัดพิมพ์โดยสำนักอบรมศึกษากฎหมายแห่งเนติบัณฑิตยสภา , ๒๕๖๐.

ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์
                มาตรา ๑๗๒๗ วรรคหนึ่ง “ผู้มีส่วนได้เสียคนหนึ่งคนใดจะร้องขอให้ศาลสั่งถอนผู้จัดการมรดก เพราะเหตุผู้จัดการมรดกละเลยไม่ทำการตามหน้าที่ หรือเพราะเหตุอย่างอื่นที่สมควรก็ได้ แต่ต้องร้องขอเสียก่อนที่การปันมรดกเสร็จสิ้นลง”